กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ปริมาณปุ๋ยเคมีทั้งประเทศ พบมีสูงถึง 1.43 ล้านตัน มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 52% ทั้งยูเรีย โพแทสเซียม แอมโมเนียมซัลเฟต ส่วนสถานการณ์จำหน่ายลด 36% เหตุเกษตรกรหันใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ หรือใช้แบบผสม ด้านราคาลดต่อเนื่อง ยูเรียลงแล้ว 18% แอมโมเนียมซัลเฟต ลง 26% คาดแนวโน้มลงอีก
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์ปุ๋ยเคมีอย่างใกล้ชิด ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยพบว่า ขณะนี้ปริมาณสต็อกปุ๋ยของทุกโรงงานรวมกันมีมากถึง 1.43 ล้านตัน มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 52% โดยเฉพาะแม่ปุ๋ยและปุ๋ยสูตรหลัก ๆ มีสต็อกมากกว่าปีที่แล้ว เช่น ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) สต็อกมากกว่าปีที่แล้วถึง 136% , 191% และ 89% ตามลำดับ
ส่วนสถานการณ์การจำหน่ายปุ๋ยของทุกโรงงานรวมกันในช่วง 10 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) พบว่า ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีทั่วประเทศลดลงประมาณ 36% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่ง ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางในการเพาะปลูก โดยใช้ปุ๋ยเคมีลดลง และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพทดแทน หรือใช้แบบผสมผสานควบคู่กันไป เพื่อลดต้นทุนในการเพาะปลูก
“จากปริมาณปุ๋ยเคมีที่มีมากเพียงพอในขณะนี้ และปริมาณการใช้ที่ลดลง ทำให้ตลาดมีการแข่งขันราคากันมากขึ้น ประกอบกับราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกได้ลดลงมาบ้างแล้ว แม่ปุ๋ยและปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ที่จำหน่ายในประเทศ จึงได้ปรับลดราคาลง โดยราคาจำหน่ายเฉลี่ยภาคกลาง ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ลดลง 18% และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ลดลง 26% และคาดว่าราคาปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก โดยกรมฯ จะร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ทั่วประเทศจะติดตามสถานการณ์ปุ๋ยเคมีอย่างต่อเนื่องต่อไป”ร.ต.จักรากล่าว
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับนายมานิตย์ บุญเขียว ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวและผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ร่วมกับนายสงกรานต์ เพ็ชรน้ำเขียว พาณิชย์จังหวัดนนทบุรี น.ส.มณฑา เจริญสุขสุวรรณ ปลัด อบต. บ้านใหม่ นายอาคม แก้วเอี่ยว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 และน.ส. จิรารัตน์ ผ่องแผ้ว ผู้แทนสำนักงานเกษตรอำเภอบางใหญ่ พบว่า เกษตรกรในเครือข่ายของวิสาหกิจชุมชนฯ ได้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงและหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันมากขึ้น โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงที่มีราคาไม่แพง เช่น มูลสัตว์ แกลบ รำข้าว น้ำหมัก และกากน้ำตาล เป็นต้น นำมาผสมให้ได้สารอาหารที่ขาดในดิน ตามประเภทของพืชที่เพาะปลูก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อบต.บ้านใหม่
ทั้งนี้ นายสมชาย จันทร์วิเหลือง เกษตรกรผู้ปลูกผักในตำบลบ้านใหม่ ได้ยืนยันว่า หลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ปุ๋ย พบว่า ผลผลิตไม่ได้ลดลง ดินไม่เสื่อมสภาพ และปัญหาแมลงลดลง ทำให้ใช้ยาฆ่าแมลงน้อยลงไปด้วย
ทางด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนหน้านี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช่วยเกษตรกรจากราคาปุ๋ยที่แพง ปุ๋ยขาดแคลน มอบกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ลุยแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงและไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565 – 2569 ด้านกรมปศุสัตว์ เร่งส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์นำเอาปุ๋ยคอกมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น กรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยเกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ อย่างเพียงพอ ทั่วถึง และใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพง และปุ๋ยขาดแคลน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการและวางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงและไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565 – 2569 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ และให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ เพียงพอ และทั่วถึง ทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว