“ผิงเสียง” ประตูแห่งโอกาสเพิ่มมูลค่าการค้า ไทย -กว่างซีจ้วง-จีน

ตามรายงาน เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 รถบรรทุกสินค้าที่ผ่านเข้า-ออกด่านทางบกโหย่วอี้กวาน 1,073 คันครั้ง นับเป็นสถิติรายวันสูงสุดในรอบปีนี้ และนับตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ด่านแห่งนี้มีรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกสะสม 2.08 แสนคันครั้ง ปริมาณรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่ 614 คันครั้ง เป็น 864 คันครั้งในขณะนี้

สำหรับ ‘ด่านโหย่วอี้กวาน’ ตั้งอยู่ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ติดกับด่าน Huu Nghi ในจังหวัด Lang son ของประเทศเวียดนาม เป็นด่านทางบกที่มีขนาดใหญ่ มีปริมาณการค้าสูงที่สุด (โดยเฉพาะการค้าผลไม้เมืองร้อนกับอาเซียน) และเป็นด่านทางบกเพียงแห่งเดียวที่เปิดให้สินค้าและผู้โดยสารผ่านเข้า-ออกระหว่างจีนกับเวียดนามได้ในขณะนี้

2022 08 10 21 1024x576 1
ผิงเสียง ประตูแห่งโอกาสการค้าไทย-จีน

เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศจีนได้ดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับคนและสิ่งของที่มาจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด

ปัจจุบัน เมืองผิงเสียงยังคงดำเนินมาตรการบริหารจัดการแบบปิด (Closed-loop management) สำหรับการขนส่งสินค้าข้ามแดน เพื่อป้องกันและ ‘ตัดตอน’ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในกรณีที่พบสินค้ามีการปนเปื้อน มิให้กระจายเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ระบบห่วงโซ่ความเย็น รวมถึง ‘ผลไม้สด’ ส่งผลให้การขนส่งสินค้าผ่านด่านศุลกากรเกิดปัญหาติดขัดและล่าช้าตามสถานการณ์ในพื้นที่ ณ เวลานั้น ๆ

อย่างไรก็ดี ทางการเมืองผิงเสียงไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว โดยได้พยายามพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่งสินค้าผ่านเข้า-ออกด่านอย่างต่อเนื่อง อาทิ

-เดือนกุมภาพันธ์ 2565 นำเทคโนโลยี “สายรัดข้อมือ GPS” มาใช้เพื่อตรวจสอบข้อมูลการเดินทางของพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าข้ามแดนเป็นที่แรกในประเทศจีน การพัฒนาระบบควบคุมแบบรวมศูนย์ผ่านโมเดล “อินเทอร์เน็ต + บิ๊กดาต้า + คลังสินค้าแบบรวมศูนย์” การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability system) และกลไกความตกลงยอมรับผลในเอกสาร/ใบรับรองต่างๆ ร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement) ทั้งในมณฑลและข้ามมณฑล

 

-เดือนมีนาคม 2565 นำมาตรการ ‘เปลี่ยนหัวรถลาก’ ที่บริเวณพื้นที่แนวกันชนชายแดนจีน(กว่างซี)-เวียดนาม เพื่อลดการสัมผัสระหว่างคนขับรถบรรทุกของสองประเทศ และช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหารถบรรทุกติดขัด/ติดค้างบริเวณพื้นที่ชายแดน

 

-เดือนพฤษภาคม 2565 เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเปิดทำการ “ด่านพรมแดนทางบก” เพื่อการค้าระหว่างประเทศครบทุกด่าน ประกอบด้วย ด่านทางบก 7 แห่ง และด่านทางรถไฟ 1 แห่ง (ทั้งด่านสากล และด่านทวิภาคีกับเวียดนาม) ซึ่งช่วยระบายความแออัดของรถบรรทุกสินค้าที่กระจุกตัวอยู่ที่ด่านโหย่วอี้กวานเพียงด่านเดียว

-เดือนสิงหาคม 2565 เปิดใช้งาน “ประตูไม้กั้นแห่งที่ 3” เปรียบเสมือนการเปิดช่องจราจรสำหรับรถบรรทุกสินค้าที่วิ่งเข้า-ออกด่านโหย่วอี้กวานกับประเทศเวียดนาม ซึ่งช่วยยกระดับประสิทธิภาพการจราจรและแก้ปัญหาความแออัดในการเดินรถบรรทุกในบริเวณพื้นที่ด่านโหย่วอี้กวาน และเขตสินค้าทัณฑ์บนผิงเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ เมืองผิงเสียง ยังได้เปิดช่องพิเศษ (Green Lane) สำหรับสินค้าสดและมีชีวิต การตรวจปล่อยสินค้าสด “ถึงปุ๊บตรวจปั๊บ” และให้บริการตรวจก่อนปล่อยก่อน (first priority) สำหรับสินค้าสด/มีชีวิต เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยที่ลานสินค้า การเปิดเบอร์ Hotline ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อการให้บริการตอบข้อสงสัยแก่ตัวแทนออกของและพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรที่มีการเปลี่ยนแปลง/อัปเดตใหม่ การเปิดช่องทางพิเศษสำหรับรถบรรทุกเปล่าที่กลับจากเวียดนามเข้ากว่างซี เพื่อให้การผ่านพิธีการศุลกากรและการจราจรของรถบรรทุกสินค้าสามารถลื่นไหลไปได้อย่างสะดวก

“ปัจจุบัน การผ่านด่านพรมแดนใช้เวลารวดเร็วขึ้นมากเลย ใช้เวลาเพียง 10 กว่าวินาทีผ่านด่านได้แล้ว ทุเรียนนำเข้าที่รถบรรทุกผมขนส่งมานี้ สามารถเข้าประเทศจีนในโอกาสแรก ไม่ต้องพูดเลยว่าทุเรียนสดใหม่แค่ไหน” คุณเฉิน พนักงานขับรถบรรทุก

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟจีน-เวียดนามในช่วง 10 เดือนแรก ปี 2565 วิ่งให้บริการสะสม 238 ขบวน เป็นขบวนขาล่องไปเวียดนาม 152 ขบวน เพิ่มขึ้น 10.9% (YoY) นอกจากเส้นทางดั้งเดิม “นครหนานหนิง-เมืองผิงเสียง – กรุงฮานอย” ที่เป็นเที่ยวประจำแล้ว เมื่อเดือนเมษายน 2565 ได้เพิ่มเส้นทางใหม่ “เมืองหลิ่วโจว – อำเภอ Dong Dang จังหวัด Lang son” ด้วย

สำหรับการขนส่ง ‘สินค้าแช่เย็นแช่แข็ง’ (cold chain) ทางรถไฟ นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ขบวนรถไฟจีน-เวียดนามขนส่งสินค้า cold chain รวม 41,613 ตัน เพิ่มขึ้น 178.3% (YoY) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลไม้สด อาทิ ทุเรียนและมังคุดของไทย รวมถึงแก้วมังกร ลิ้นจี่และขนุนของเวียดนาม (ไทยได้ใช้ประโยชน์จากด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563)

ที่ผ่านมา เมืองผิงเสียงได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟไม่น้อยหน้าด่านโหย่วอี้กวานเช่นกัน เช่น การติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์ H986 เพื่อตรวจสอบสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์แบบขับผ่าน (Fast Scan) ใช้เวลาเพียง 1 นาที การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรอย่างระบบ Paperless ระบบ Pre-arrival processing และระบบ Railway cargo manifest โดยจำเป็นต้องหยุดรอเพื่อดำเนินขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงเอกสาร (customs transfer) ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกความรวดเร็วให้กับการดำเนินพิธีการศุลกากรและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก การพัฒนากลไกการประสานงานระหว่างการรถไฟกับผู้ให้บริการตู้สินค้าเป็นการล่วงหน้า เพื่อที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถจัดเตรียมกำลังคนและอุปกรณ์ในการตรวจสอบสินค้าได้อย่างทันท่วงที

และล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ได้ติดตั้ง “เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล”(ลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต) มาติดตั้งแบบถาวรที่โบกี้ช่วงกลางของขบวนรถไฟ หากเติมน้ำมันเต็มถัง สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับระบบทำความเย็นของตู้คอนเทนเนอร์เย็น หรือ Reefer container ได้ 8 ตู้ เป็นเวลาต่อเนื่อง 300 ชั่วโมง ช่วยให้สินค้าสามารถรักษาคุณภาพความสดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน เห็นว่า ด้วยแนวโน้มความต้องการในการบริโภคผลไม้ไทยที่เพิ่มสูงขึ้น กอปรกับความพร้อมด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เมืองผิงเสียงยังคงเป็น ‘ประตูแห่งโอกาส’ ที่ช่วยเพิ่มพูนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยกับเขตฯ กว่างซีจ้วง(รวมถึงประเทศจีน)ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปประเทศจีนผ่านด่านโหย่วอี้กวาน และด่านแห่งอื่นในเขตฯ กว่างซีจ้วง ควรติดตามสถานการณ์และวางแผนการขนส่งสินค้าอย่างรอบคอบ พิจารณาใช้ประโยชน์จากด่านในกว่างซีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด่านทางบก (ด่านตงซิง) ด่านรถไฟ (ด่านรถไฟผิงเสียง) ด่านท่าเรือ (ท่าเรือชินโจว ด่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง ท่าเรือเป๋ยไห่) และด่านท่าอากาศยานอู๋ซวีนครหนานหนิง

ที่มา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน