กรมทรัพย์สินฯ เตรียมมอบตราGI “ขมิ้นชัน-ปลาเม็ง”สุราษฎร์ธานี -“สินิตย์” ดัน “ทุเรียนทะเลหอย”กระบี่ ขึ้นทะเบียน

รมช.พาณิชย์ “สินิตย์”เตรียมลงพื้นที่สุราษฎร์ธานีและกระบี่ 22-24 ธ.ค.นี้ มอบหนังสือรับรอง GI ให้กับ “ขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี” และ “ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี” ซึ่งเป็น GI น้องใหม่ที่เพิ่งขึ้นทะเบียนล่าสุด พร้อมตรวจเยี่ยมแหล่งผลิต “ทุเรียนทะเลหอย” ของดีจังหวัดกระบี่ ก่อนดันขึ้นทะเบียน GI ต่อไป
         

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะนำคณะผู้บริหารกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและกระบี่ ระหว่างวันที่ 22-24 ธ.ค.2565 เพื่อมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับ “ขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี” และ “ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี” ซึ่งเป็นสินค้า GI ที่เพิ่งขึ้นทะเบียนตัวล่าสุดของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
    

63915acccb8f6
สินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์

     

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังจะช่วยขยายช่องทางการตลาดให้กับสินค้าทั้ง 2 รายการ เพื่อนำไปจำหน่ายผ่านห้างโมเดิร์นเทรดชั้นนำ โดยอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับท็อปส์ มาร์เก็ต เพื่อเซ็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรและผู้ผลิต มีช่องทางการจำหน่าย และมีรายได้เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน มีกำหนดลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อมอบนโยบายและเยี่ยมชมแหล่งผลิตสินค้า “ทุเรียนทะเลหอย” ของดีจังหวัดกระบี่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน GI และคาดว่าจะขึ้นทะเบียนแล้วเสร็จภายในต้นปี 2566

ปัจจุบันจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีการขึ้นทะเบียน GI มากที่สุดในภาคใต้ โดยมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 6 สินค้า ได้แก่ หอยนางรมสุราษฎร์ธานี ไข่เค็มไชยา มะพร้าวเกาะพะงัน เงาะโรงเรียนนาสาร ขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี และปลาเม็งสุราษฎร์ธานี สร้างมูลค่าทางการตลาดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในจังหวัดกว่า 660 ล้านบาทต่อปี

ส่วนจังหวัดกระบี่ ปัจจุบันมีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 1 สินค้า คือ กาแฟเมืองกระบี่ สร้างมูลค่าทางการตลาดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในจังหวัดกว่า 20 ล้านบาทต่อปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี เป็นขมิ้นชันสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีการปลูกมาอย่างยาวนาน เรียกชื่อว่า พันธุ์ตาขุน เป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมากในเขตอำเภอบ้านตาขุน หรือจะเรียกชื่อว่า ขมิ้นชันทอง ซึ่งเมื่อนำไปปลูกนอกเขตจะเรียกชื่อสายพันธุ์ต่างออกไป เช่น ขมิ้นชันแดงสยาม เป็นต้น

ขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี ได้รับการพิสูจน์ว่ามีปริมาณสารสำคัญคือ เคอร์คูมิน ในปริมาณที่สูงเป็นพิเศษ จึงเป็นที่ต้องการของตลาด ขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี จึงถูกนำมาใช้เป็นอาหาร ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์ความงาม รวมถึงในงานพิธีต่าง ๆ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้นแต่ได้ถูกนำไปใช้ในจังหวัดอื่นทั้งในภาคใต้และภาคอื่น ๆ ของประเทศด้วย

ส่วน ปลาเม็งราษฎร์ธานี เป็นปลาน้ำจืดจำพวกเดียวกับปลาดุก อดีตพบปลาเม็งอาศัยอยู่ตามป่าพรุ ลำธาร ห้วย ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำตาปี ซึ่งไหลผ่านในหลายอำเภอไล่มาตั้งแต่อำเภอชัยบุรี อำเภอพระแสง อำเภอเวียงสระ อำเภอบ้านนาสาร อำเภอเคียนซา อำเภอบ้านนาเดิม อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสะอาดและอุดมสมบูรณ์

ตัวอย่างพื้นที่ในปัจจุบันที่พบปลาเม็งในธรรมชาติ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางลายในอำเภอเวียงสระ ทุ่งตาเสา บ้านมอเก็ต และท่าชีในอำเภอบ้านนาสาร หนองทุ่งทองในอำเภอเคียนซา พรุกงและทุ่งปากขอในอำเภอบ้านนาเดิม ท่าสะท้อนและทุ่งกระจูดในอำเภอพุนพิน เป็นต้น

ในอดีตชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปลาชนิดนี้ได้ในหลายพื้นที่ โดยการใช้ลอบยืนหรือไซนั่งวางไว้ข้ามคืนประมาณ 1 – 2 คืน ภายในลอบบรรจุเหยื่อล่อปลา คือ มดดำชนิดหนึ่ง หรือ ภาษาถิ่นเรียกว่า “มดตรอด” นำมารมควันให้ตายทั้งรังหรือปลวกชนิดหนึ่งที่ทำรังเกาะอยู่ตามต้นไม้ หรือภาษาถิ่นเรียกว่า “หัวเคง” นำมาเผาแล้ววางไว้ภายในลอบดักปลา ปลาเม็งเป็นปลาที่ออกหากินในเวลากลางคืน อยู่รวมกันเป็นฝูงหากมีปลาเม็งตัวใดเข้าลอบตัวอื่น ๆ ก็จะตามเข้าไปติดลอบทั้งฝูง

ด้วยสภาพแวดล้อมทางน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการปรับพื้นที่และการใช้สารเคมีในการเกษตร ส่งผลให้ประชากรของปลาเม็งมีจำนวนลดลงและมีโอกาสสูญพันธุ์ได้ และเนื่องจากปลาเม็งเป็นปลาน้ำจืดที่มีลักษณะเฉพาะประกอบกับกระบวนการเลี้ยงที่ต้องให้อาหารตามช่วงอายุของปลาเม็ง และต้องใช้เวลาในการเลี้ยง 12 – 18 เดือน ส่งผลให้ปลาเม็ง มีเนื้อที่แน่น เป็นเส้น ไม่เปื่อยยุ่ย มีไขมันน้อย จึงเป็นที่ต้องการของท้องตลาดเป็นอย่างมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในอดีตพบว่าปลาเม็งเป็นปลาที่ไม่นิยมบริโภคเพราะจับยาก เงี่ยงแหลม มีพิษแรง และเนื้อน้อย ชาวบ้านจึงนำ ปลาเม็งมาแปรรูปโดยการย่างรมควัน ซึ่งปลาเม็งย่างรมควันเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมานานไม่ต่ำกว่า 100 ปี ปลาเม็งสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย โดยปลาเม็งสดนำไปประกอบอาหาร เช่น แกงคั่วใบส้มแป้นขี้ม้า แกงส้ม แกงพริก ปลาเม็งแดดเดียว เป็นต้น ส่วนปลาเม็งย่างรมควันนำไปประกอบอาหาร เช่น ยำปลาเม็ง ต้มโคล้งปลาเม็ง ปลาเม็งจิ้มน้ำปลา ปลาเม็งน้ำปลาหวาน เป็นต้น

ปัจจุบันปลาเม็งเป็นที่นิยมของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรสชาติหอมอร่อย จึงถือได้ว่า ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาเป็นเวลานาน

ทุเรียนทะเลหอย กระบี่ จะมีลักษณะโดดเด่นกว่าที่อื่นตรงเนื้อทุเรียนที่มีสีเหลืองสวยเมล็ดสีแดง ไส้ไม่แฉะ รสชาติหวาน เนื้อกรอบ อร่อย เนื่องจากปลูกบนพื้นที่ดินดี มีแหล่งน้ำดี และสภาพอากาศที่ดีมาก ๆ ทำให้ทุเรียนมีคุณภาพดี รสอร่อยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือเป็น 1 ในของดีจังหวัดกระบี่ ทุเรียนทะเลหอยมีทั้งสายพันธุ์ก้านยาว หมอนทอง ชะนีพวงมณี และพันธุ์พื้นบ้าน