ก.เกษตรฯเปิดโครงการ “ต้นกล้าสานฝันปันรัก…สู่ลูกหลาน” ตั้งเป้าเปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 20,000 ราย

กระทรวงเกษตรฯ มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนพันธุ์ไม้มีค่า ไม้ผล ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจและพืชผักพืชอาหารให้แก่เกษตรกร สำหรับทำการเกษตรตามระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ ภายใต้โครงการ “ต้นกล้าสานฝันปันรัก…สู่ลูกหลาน” ตั้งเป้าเปิดรับสมัครเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมกว่า 20,000 ราย

​ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการสร้างการรับรู้การดำเนินงานโครงการ “ต้นกล้าสานฝันปันรัก…สู่ลูกหลาน” โดยมีนายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมพัฒนาธุรกิจ และผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพันธุ์ไม้มีค่า ไม้ผล ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจและพืชผักพืชอาหารให้แก่เกษตรกร สำหรับทำการเกษตรตามระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

51C74337 281D 49F6 8580 1FFF602E15C9

สำหรับพันธุ์ไม้ที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ศูนย์ปฏิบัติการและศูนย์ขยายพันธุ์พืชของกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการผลิตพันธุ์ไม้มีค่า ไม้ผล ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ และพืชผักพืชอาหาร รวม372,300 ต้น และได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ เป็นต้นกล้าไม้มีค่า ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ จำนวน1,166,100 ต้น เช่น สัก พะยูง ประดู่ ชิงชัน ตะแบก เป็นต้น รวมพันธุ์ไม้ทั้งสิ้น 1,538,400 ต้น โดยมีการแบ่งกลุ่มตามความเหมาะสมของพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก คือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำเกษตรไม่เหมาะสม (Zoning)

​กลุ่มสอง คือ เกษตรกรศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต้นแบบ

โดยเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะได้รับพันธุ์ไม้ รวมจำนวน 200 ต้นต่อราย แบ่งเป็น ไม้ผลและพืชผักอาหารจำนวน 8 ชนิด (ไผ่ซางหม่น มะขามเปรี้ยวฝักใหญ่ มะม่วง สะเดา อะโวคาโด กล้วย พริก มะเขือ) และต้นกล้าไม้มีค่า ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ

​กลุ่มสาม คือ สมาชิกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเข้าร่วมกิจกรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรผู้นำ (อบรม/ดูงาน) ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยเกษตรกรจะได้รับพันธุ์ไม้ รวมจำนวน 50 ต้นต่อราย แบ่งเป็น ไม้ผลและพืชผักอาหาร จำนวน 5 ชนิด (มะขามเปรี้ยวฝักใหญ่มะม่วง กล้วย พริก มะเขือ) และต้นกล้าไม้มีค่า ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจ

58FA73B1 344B 4451 B1BB A5030E60D8C6

​ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความพร้อมสำหรับการแจกจ่ายได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นไป เพื่อสร้างการรับรู้การดำเนินงานโครงการให้เกษตรกรและผู้สนใจได้รับรู้ถึงความสำคัญของการปลูกไม้เพื่อใช้ประโยชน์ เป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เป็นหลักประกันได้ในอนาคต ตลอดจนเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศต่อไป โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเพิ่มการรับรู้ของเกษตรกรให้มากขึ้น

​“กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายสำคัญด้านการส่งเสริมการเกษตรในการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากป่าปลูกแบบครบวงจร และแผนแม่บทแห่งชาติภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเกษตรกรและประชาชนปลูกไม้ยืนต้นมีค่า เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศแล้ว ยังสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอกู้เงิน ทำให้เข้าถึงสินเชื่อที่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ส่งเสริมให้มีการให้หลักประกันทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

0F1E6C2E 9507 4526 A26B EDE2AEA8A54C

ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรนำหลักการและแนวคิดตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาต่อยอดเป็นโครงการ “ต้นกล้าสานฝันปันรัก…สู่ลูกหลาน” โดยมีเกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 27,537 ราย 

ประกอบด้วย เกษตรกรตามโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรไม่เหมาะสม จำนวน 1,000 ราย ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรต้นแบบ จำนวน 77 แห่ง และสมาชิกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน26,460 ราย 

ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกร ครอบครัว ชุมชน ได้อย่างยั่งยืน โดยโครงการสามารถเห็นผลได้ในทุกระยะ ตั้งแต่ระยะที่หนึ่งที่เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากพืชผัก ระยะที่สองที่เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากไม้ผล และระยะที่สามที่เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากไม้เศรษฐกิจ ไม้ยืนต้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่องและยั่งยืน