พบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่บริเวณหาดไม้ขาว 108 ฟอง

11 ธันวาคม 2565 เพจอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต โพสต์ข้อความระบุว่า อุทยานแห่งขาติสิรินาถ ได้รับแจ้งจากศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต ว่ามีชาวบ้านตำบลไม้ขาวทราบชื่อ นายบุญเจิด แซ่ตัน ได้โทรแจ้งให้หัวหน้าศูนย์ฯ ทราบว่า เวลา 06.00 น. พบร่องรอยการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเล บริเวณหาดไม้ขาว หน้าโรงแรมสแปลช บีช รีสอร์ท จึงได้ร่วมกันเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ ที่พิกัด 47P 423092E

318117518 468827088763663 2066798845417409926 n
เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่กว่า 100 ฟอง

พบร่องรอยการขึ้นวางไข่ของเต่าขนาดใหญ่ วัดขนาดความกว้างของอกได้ 110 ซม. ขนาดความกว้างของพาย 180 ซม. คาดว่าเป็นเต่ามะเฟือง จึงได้ช่วยกันขุดหาไข่เต่า พบไข่เต่าทั้งหมด จำนวน 108 ฟอง เป็นไข่ดี จำนวน 79 ฟอง (แตก 3 ฟอง เหลือ 76 ฟอง) ไข่ลม จำนวน 29 ฟอง

จากการสำรวจสภาพพื้นที่ที่เต่าวางไข่ จะมีน้ำทะเลท่วมถึง จึงได้ทำการย้ายไข่เต่าไปเพาะฟักบริเวณหาดในยางหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวโดยจะติดตามเฝ้าระวังและเฝ้าสังเกตการณ์ จนถึงเวลาฟักเป็นตัวและปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

dermochelys coriacea
เต่ามะเฟือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “เต่ามะเฟือง”จัดอยู่ในกลุ่ม สัตว์เลื้อยคลาน (Reptile) เป็นเต่าทะเล ตัวเต็มวัยมีขนาด 1.5-2.5 เมตร น้ำหนัก 800-900 กิโลกรัม จัดเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ลักษณะเด่น

กระดองมีลักษณะเป็นหนังหุ้ม ไม่แข็งเหมือนเต่าชนิดอื่น มีร่องสันนูนตามยาว 7 สัน มองดูคล้ายกับผลมะเฟือง ครีบคู่หน้าไม่มีเล็บ หัวใหญ่ไม่สามารถหดเข้าไปในกระดองได้

การขยายพันธุ์

เต่ามะเฟือง เพศเมีย จะขึ้นมาวางไข่บนชายหาด ประมาณ 66-104 ฟอง/รัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยในการวางไข่ เช่น อายุ สภาพอากาศ สภาพแวดล้อมของสถานที่วางไข่ ใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 60-70 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสภาพแวดล้อม ซึ่งมีประมาณ 85% ที่ฟักตัวได้

นอกจากนี้อุณหภูมิในหลุมฟักยังเป็นตัวแปรในการกำหนดสัดส่วนเพศของลูกเต่ามะเฟืองในหลุม โดยสัดส่วนของเพศเมียจะมีมากขึ้นเมื่อมีอุณหภูมิสูง

1372963997
หลังจากฟักตัว ลูกเต่าจะคลานออกจากรัง ลงสู่ทะเลทันที

หลังจากฟักตัว ลูกเต่าจะคลานออกจากรัง ลงสู่ทะเลโดยทันที เนื่องจากเป็นเต่ามะเฟืองเป็นเต่าน้ำลึก จึงไม่สามารถเก็บมาอนุบาลเป็นเวลานานได้ ซึ่งต่างกับเต่าทะเลสายพันธุ์อื่น ในวัยเจริญพันธุ์จะเติบโตและใช้เวลาอยู่ในทะเลเกือบชั่วชีวิต โดยเต่ามะเฟืองสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 1,280 เมตร

อาหาร

แมงกะพรุน แพลงก์ตอน สาหร่ายน้ำลึก

การกระจายพันธุ์

เขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก ในประเทศไทยมีรายงานการพบเต่ามะเฟืองทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน

นอกจากนี้ เต่ามะเฟือง จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล จึงมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ จัดเป็นทรัพยากรร่วมของภูมิภาคและระดับโลก เต่ามะเฟืองเป็นเต่าทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับเต่าทะเลที่มีอยู่ 7 ชนิดทั่วโลก จำนวนประชากรพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟืองที่มาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงปีละไม่ถึง 10 ตัว ทำให้ต้องมีการทบทวนแนวทางการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการคุ้มครองเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกชนิดนี้ ให้เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 18แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ผลจากการดูแลเต่ามะเฟืองและแหล่งที่อยู่อาศัยจะช่วยคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ภัยคุกคามต่อเต่ามะเฟือง

1.ติดเครื่องมือประมง

ระหว่างการเดินทางมาวางไข่และระหว่างพักช่วงการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง มีโอกาสที่จะติดเครื่องมือประมง ทั้งเครื่องมือประมงพาณิชย์ เช่น อวนลาก และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอย เบ็ดราวปลากระเบน และโป๊ะน้ำตื้น

2.ถูกรบกวนจากกิจกรรมในทะเล

การรบกวน เช่น จากแสงไฟของเรือที่จอดบริเวณชายหาด ขยะ และน้ำเสียจากเรือ การท่องเที่ยวทางทะเล เช่น สกู๊ตเตอร์ รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล นอกจากนั้นความสนใจของนักดำน้ำต่อเต่าทะเลยังรบกวนการพักผ่อน หากินของมันอีกด้วย

3.การสูญเสียสภาพชายหาดที่เหมาะสมต่อการวางไข่

การสูญเสียสภาพชายหาดเกิดขึ้นได้ทั้งในเชิงของปริมาณ คือการสูญเสียบริเวณหาดทรายที่เหมาะสมต่อการวางไข่ของเต่าทะเลจากการก่อสร้างสิ่งลุกล้ำลงไป หรือในเชิงคุณภาพ เช่น มีกิจกรรม แสง สี เสียง รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่า ความสกปรก และขยะบริเวณชายหาด

4.ถูกรบกวนจากกิจกรรมบนชายฝั่ง

การพัฒนาบนฝั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของชายหาดที่เต่าทะเลจะเลือกขึ้นมาวางไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแสง การขาดการจัดการที่ดีของการพัฒนาชายฝั่ง ส่งผลต่อปริมาณขยะ และน้ำเสียที่ไหลลงมาสู่ชายหาด

5.ขยะทะเล

ปัญหาของขยะทะเลมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก เนื่องจากการเพิ่มของประชากรของมนุษย์และการขาดจิตสำนึกในการใช้สิ่งของและการทิ้งขยะ ผลการผ่าชันสูตรซากเต่าทะเลที่เกยตื้นเสียชีวิตบางตัวพบขยะพลาสติกจำนวนมากในระบบทางเดินอาหารอันเป็นสาเหตุของการตาย เต่ามะเฟืองซึ่งกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลักเมื่อเห็นพวกเศษถุงพลาสติกใสอาจหลงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุนจึงกินเข้าไปได้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะกลืนกินขยะทะเลเข้าไป ปัญหาขยะทะเลไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเต่าทะเล แต่ยังเป็นสาเหตุการเกยตื้นในสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ทั้งจากการกินโดยไม่ตั้งใจ หรือการกินโดยตั้งใจเนื่องจากคิดว่าเป็นอาหาร ปัญหาขยะที่พบได้บ่อยมากคือขยะจำพวกเชือกและเศษอวนซึ่งเกี่ยวรัดสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ให้บาดเจ็บและเสียชีวิต