ฝนชุกเตรียมรับมือ “โรคใบจุดดำกุหลาบ”

ฝนตกชุกและอากาศร้อนในช่วงระยะนี้อาจส่งผลกระทบต่อการปลูก “กุหลาบ” กรมวิชาการเกษตร แนะวิธีรับมือ“โรคใบจุดดำ” ที่เกิดจากเชื้อรา (เชื้อรา Marssonina rosae)ให้ “เกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบ”เฝ้าระวังการเกิดโรค ซึ่งสามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของกุหลาบและมีการแพร่เชื้อให้ระบาดไปอย่างรวดเร็วเพราะสปอร์ของเชื้อราที่ก่อให้เกิด “โรคใบจุดดำ” สามารถจะปลิวไปตามสายลม การชะล้างของน้ำฝน และติดไปกับตัวแมลงที่มาดอมดมกลิ่นกุหลาบ

281365354 338085831803971 5535082677825183369 n 3

โรคนี้มักพบแสดงอาการเริ่มแรกที่ “ใบกุหลาบ” ด้านล่างก่อน โดยใบจะเริ่มเป็นจุดแผลกลมสีดำ ขอบแผลไม่เรียบ กลางแผลมีสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำกรณีที่มีความชื้นสูงแผลจะขยายใหญ่ ขนาดของวงอยู่ระหว่าง ½ -1 ซม. ในวงกลมนี้ ประกอบด้วยเส้นใยขนาดเล็กคล้ายขนปุย ๆ และมีก้อนสีดำเล็ก ๆ กระจายอยู่บนเส้นใยด้วย นอกจากบนใบแล้ว ตามก้านใบจะพบแผลวงกลม ในขณะเดียวกันสามารถพบได้หลายแผลในหนึ่งใบ ทำให้ใบเหลือง แห้ง และหลุดร่วง

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

-ตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ เมื่อพบ“กุหลาบ” เริ่มแสดงอาการของโรค ตัดส่วนที่เป็นโรคและเก็บใบที่ร่วงหล่นไปทำลายหรือฝังดินนอกแปลงปลูก ไม่ทิ้งไว้ในบริเวณหรือข้างแปลง เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค หากโรคยังคงระบาดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช โพรคลอราซ ๔๕% อีซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ แมนโคเซบ ๘๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๕๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไดฟีโนโคนาโซล ๒๕% อีซี อัตรา ๑๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ทุก ๕-๗ วัน

กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก เป็นการลดความชื้น ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรค

-ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย เพราะจะทำให้ “ใบกุหลาบ” มีความชื้นสูง หรือถ้าให้น้ำแบบพ่นฝอยควรให้ในตอนเช้า

-เมื่อได้นำอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรไปใช้กับต้นที่เป็นโรคในแปลงที่มีการระบาด…ควรล้างทำความสะอาดและผึ่งแดดให้แห้ง หลังการใช้งานทุกครั้งด้วย