เพิ่มองค์ความรู้นักบินฝนหลวง อบรมระบบเครื่องช่วยอากาศเครื่องบินและระบบนำทางดาวเทียม ประยุกต์การทำฝนหลวง

วันที่ 16 ธันวาคม65 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงฯ มีกำหนดการจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการเดินอากาศตามความสามารถของระบบเครื่องช่วยเดินอากาศของเครื่องบิน(Performance-Based Navigation-PBN) และระบบนำทางด้วยดาวเทียม (Global Navigation Satellite System-GNSS) ให้แก่นักบินของกองบริหารการบินเกษตร ผ่านการบรรยายความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ได้จากประสบการณ์การปฏิบัติงานของนักบิน ระหว่างวันที่ 8-19 ธันวาคม 2565 ณ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรุงเทพมหานคร

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเดินอากาศแบบ Performance-Based Navigation และระบบนำทางด้วยดาวเทียม (Global Navigation Satellite System-GNSS) ซึ่งจะได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้กับระบบ Integrated Flight Deck ตามแบบที่ใช้กับเครื่องบินที่ปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง สามารถปฏิบัติการบินลงสนามแบบ Required Navigation Performance (RNP) ทั้งแบบมีหรือไม่มี ระบบดาวเทียมเสริม (Satellite-Based Augmentation Systems) ได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล และสามารถนำระบบการบินแบบ Performance-Based Navigation มาประยุกต์การบินปฏิบัติการฝนหลวง ร่วมกับการบินทางราชการและการบินพาณิชย์ได้อย่างปลอดภัย

320365754 919487389035389 5574792621220703886 n
เพิ่มองค์ความรู้นักบินฝนหลวง

นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจึงมีความต้องการใช้ห้วงอากาศมากขึ้น โดยการใช้ห้วงอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะต้องนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ซึ่งเทคโนโลยีที่กล่าวมานั้นก็คือ Performance-Based Navigation (PBN) โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีการทำงานระหว่างระบบช่วยเดินอากาศภาคพื้น (Ground-based Conventional Navigation Aid) และระบบนำทางด้วยดาวเทียม (Global Navigation Satellite System-GNSS) ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีเครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ระบบ Integrated Flight Deck ประมาณ 10-12 เครื่อง และยังมีแผนที่จะรับมอบเครื่องบินรุ่นใหม่เข้ามาใช้ในอนาคต ซึ่งระบบนี้สามารถที่จะรองรับการเดินอากาศ PBN ได้ ดังนั้นกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงจัดอบรมหลักสูตรข้างต้นให้แก่นักบิน ให้นักบินทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว และสามารถปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ ตามระเบียบ กฎ ข้อบังคับด้านการบินสากล เน้นความปลอดภัยสูงสุด จึงจำเป็นต้องจัดการอบรมในหลักสูตรข้างต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังอยู่ในช่วงการปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี แต่ยังมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว 2 หน่วยปฏิบัติการ ประจำการอยู่ที่ จ.นครสวรรค์ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่มีการขอรับบริการฝนหลวงหากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งนี้ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 กรมฝนหลวงฯ จะทำการเปิดปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ เพื่อลดความเสียหายแก่บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของพี่น้องประชาชนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในวันที่ 1 มีนาคม 2566 จะทำการเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2566 อีกด้วย นายสุพิศ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ( Department of Royal Rainmaking and Agricultural Aviation) เป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการสร้างฝนเทียม บริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ และสนับสนุนด้านการบินในด้านการเกษตรแก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีวิสัยทัศน์ว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ฝนหลวงพระราชทานภายในปี 2580

กรมฝนหลวงฯ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

1.กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ

2.ประสานนโยบายและมีส่วนร่วมในการบริหารรจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการของประเทศ

3.ปฏิบัติการทำฝนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่เกษตร ป่าไม้ และเขื่อนเก็บกักน้ำ แก้ไขภาวะภัยแล้งให้แ้ก่เกษตรกรและประชาชนผู้ใช้น้ำทั่วไป รวมทั้งพื้นที่ที่ต้องการฝนในการแกปัญหาภัยพิบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

4.ศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยฝนหลวง และการดัดแปรสภาพอากาศ ปฏิบัติการด้านการบินและการสื่อสารเพื่อ สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง และปฏิบัติงานด้านการเกษตร

5.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดใหเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย