นายกรัฐมนตรีกำชับเร่งชดเชยเกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูกประสบอุทกภัยให้ครบทุกพื้นที่

นายกรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งดำเนินการชดเชยเกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูกประสบอุทกภัยให้ครบทุกพื้นที่ บรรเทาความเดือดร้อนเร็วที่สุดโดยเฉพาะกลุ่มผู้ยากจน พร้อมมอบกระทรวงแรงงานและท่องเที่ยวดึงผู้ว่างงานพัฒนาฝีมือป้อนธุรกิจภาคท่องเที่ยวที่ยังขาดแคลนคนทำงาน

วันที่ 17 ธ.ค. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงาน ว่าใน ไตรมาสที่3/65(ก.ค.-ก.ย.65) ทั่วประเทศมีการการจ้างงานรวม 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การว่างงานก็ปรับตัวดีขึ้น มีจำนวนผู้ว่างงาน 4.9 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.23

อย่างไรก็ตาม แม้การจ้างงานทั้งในภาคเกษตร และนอกภาคเกษตรซึ่งครอบคลุมภาคการผลิตและบริการจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจและแนวโน้มแรงงงานมีรายได้ดีขึ้นตามการมีงานทำ  แต่ก็มีประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการต่อไปคือ การเร่งช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่พื้นที่เพาะปลูกถูกน้ำท่วมเสียหายให้ครบถ้วนทุกจังหวัดโดยเร็วจากปัจจุบันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ความเสียหายเพื่อจ่ายเงินเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลัง และขณะนี้ดำเนินการจ่ายเงินไปแล้วประมาณ 30 จังหวัด จากทั้งหมด 65 จังหวัด

“นายกรัฐมนตรีได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเยียวยาผลกระทบจากอุทกภัยตามที่กฎหมายกำหนดให้เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ให้มีเงินอีกส่วนหนึ่งเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติมจากโครงการอื่นๆ ที่ดำเนินการไปแล้วอย่างประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวที่มีส่วนช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท และเงินส่วนต่างของราคาข้าว ที่ท่านนายกฯ กำชับในส่วนนี้ก็เนื่องด้วยห่วงใยกลุ่มผู้ที่มีความยากจนที่มีความสามารถในการรองรับภัยพิบัติน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังได้มีข้อสั่งการเพื่อดูแลกลุ่มผู้ว่างงาน โดยให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกันพิจารณาแนวทางที่จะดึงผู้ว่างงานเข้ามาอบรมและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว ที่ขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีความต้องการแรงงานสูงเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวได้ขยายตัวตามการกลับมาของนักท่องเที่ยว  โดยในไตรมาสที่3/65 ในภาคโรงแรมและภัตตาคาร ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3  และจากผลสำรวจของสมาคมโรงแรมไทยเดือนก.ย. 65 พบว่าผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมร้อยละ 77 ยังขาดแคลนแรงงาน