เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2565 นายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ครั้งที่ 11/2565 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม นายนราพัฒน์ ได้นำปัญหาจากเกษตรกร ประชาชน และหน่วยงานปกครองท้องถิ่นที่ได้รับมาจากการลงพื้นที่ เข้าที่ประชุมเพื่อเร่งรัดหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมี 3 ประเด็น ดังนี้
1. เรื่องเร่งรัดการอนุญาตให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาคาร ถนน และสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่ป่าเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก จากการที่องค์การปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานต่าง ๆ ไม่สามารถเข้าไปปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ ตัวอย่างเช่น การซ่อมศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ในพื้นที่ป่า ก็ต้องรอการอนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรฯ ก่อน ซึ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเดือดร้อนในชุมชน
2. เรื่องการดำเนินคดีและการออกระเบียบกฎเกณฑ์การเข้าไปทำกินและเก็บผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ป่าให้ชัดเจน และสอดคล้องกับบริบทของวิถีชีวิตชุมชน ยกตัวอย่างเช่น การทำเกษตรปลูก บุก ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ได้มีข้อตกลงการใช้พื้นที่ทำการเกษตรแล้ว แต่เมื่อเข้าช่วงเก็บผลผลิตและขนส่งไปขาย ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีอยู่ แม้แปลงปลูกจะมีการรับรองแล้วก็ตาม
3. เรื่องการเปิดช่องพิจารณาเร่งด่วนสำหรับการอนุญาตขุดบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร ซึ่งอยากให้เร่งรัดเปิดช่องพิจารณาแยกจากการขุดบ่อบาดาลเพื่อประโยชน์อื่น ๆ หรือตั้งกรรมการพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่เป็นปัญหาหลักของเกษตรกรในพื้นที่ที่ขาดแคลนแหล่งน้ำ
โดยผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยืนยันว่าทางกระทรวงทรัพยากรฯ จะเร่งดำเนินการหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และจะเร่งจัดการและกำชับให้แต่ละจังหวัดปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างดีที่สุด โดยได้กล่าวขอบคุณนายนราพัฒน์เป็นอย่างมากที่ได้นำประเด็นจากพื้นที่มาหารือ ซึ่งเป็นการแสดงความห่วงใยที่จริงใจต่อพี่น้องประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องการดำเนินคดีและการออกระเบียบกฎเกณฑ์การเข้าไปทำกินและเก็บผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ป่าให้ชัดเจน และสอดคล้องกับบริบทของวิถีชีวิตชุมชนนั้น ชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือหลายชุมชนประสบปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ในเรื่องสิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิทำกิน และสิทธิอยู่อาศัยในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของรัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ป่า ชาวบ้านถูกดำเนินคดีหลายราย
ทั้งนี้เป็นผลมาจากรัฐมีแนวคิดการจัดการป่าแบบตะวันตก คือ “ป่าปลอดมนุษย์” โดยรัฐได้นำเอาระบบอุทยานแห่งชาติ เข้ามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง ทับซ้อนบนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านหลายชุมชน
อย่างไรก็ตาม การประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ได้มีการสำรวจและกันพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่อยมา และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ชาวบ้านหลายครอบครัวที่เคยมีโฉนด นส. 3 ก. หรือใบจับจอง ก็ไม่สามารถนำมาอ้างสิทธิเหนือพื้นดินได้
ต่อมาด้วยการนำของผู้นำชุมชนได้มีแนวคิดจัดการป่าชุมชนแบบคนอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยถ้อยทีถ้อยอาศัยกันชาวบ้านหรือชุมชนที่อยู่ติดเขตป่าก็มีการดูแลรักษาป่าและใช้ป่าเป็นเหมือนตลาดหรือซูปเปอร์มาเก็ตในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพยั่งยืนตลอดไปภายใต้ระเบียบ กฎเกณฑ์ของชุมชนที่ชาวบ้านในชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้นมา เพื่อใช้เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกัน และใช้ประโยชน์จากป่าอย่างเท่าเทียมกัน จึงทำให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้
ซึ่งการจัดการป่าโดยรัฐหรือนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนนั้นย่อมสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้าน ฉะนั้นหากรัฐสามารถให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาอย่างที่ชาวบ้านทำมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านจะเกิดขึ้นน้อยมาก ทั้งนี้กฎระเบียบชุมชนมีความเข้มข้นมากกว่า กฎหมายของรัฐ เนื่องจากชุมชนมีการตรวจสอบกันเอง และการบังคับให้เป็นไปตามระเบียบนั้น ๆ