เข้าสู่ฤดูฝน “ฝนหลวงฯ”เร่งปฏิบัติการต่อเนื่องเพื่อ “เกษตรกร” มีน้ำใช้เพียงพอ

เพจ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระบุว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า ประเทศไทยจะเริ่มต้นเข้าสู่ “ฤดูฝน” ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และช่วงตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำใน “ด้านการเกษตร” ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ซึ่งทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวและได้วางแผนรับมือฝนทิ้งช่วงที่กำลังจะมาถึง

ปัจจุบันได้มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศจำนวน 10 หน่วย โดยเน้นปฏิบัติการช่วยเหลือ “พื้นที่การเกษตร” การเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้

280239893 299862469002244 7862658535764214225 n
ปฏิบัติการ”ฝนหลวง”

ถึงแม้ในช่วงนี้ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบบางส่วนจากพายุไซโคลนอัสนี ที่ทำให้มีฝนตก ลมพายุฝนฟ้าคะนองในบางพื้นที่ ทางกรมฝนหลวงฯ ได้เฝ้าระวังและหลีกเลี่ยงการทำฝนในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียตามมา อีกทั้งได้รีบช่วงชิงสภาพอากาศในการบินปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเป็นการเสริมธรรมชาติทำให้มีโอกาสฝนตกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนหลัก เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนต้นทุน สำหรับไว้ใช้ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง

และตั้งแต่เริ่มเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 มีผลปฏิบัติการฝนหลวง นับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 12 พฤษภาคม 2565 ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง รวม 56 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการ 55 วัน คิดเป็นร้อยละ 96.1

จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 37 จังหวัด มีพื้นที่ได้รับผลประโยชน์ 73.1 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 24 แห่ง แบ่งเป็น เขื่อนขนาดใหญ่ 11 แห่ง ขนาดกลาง 13 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 19.6 ล้านลูกบาศก์เมตร

ถึงแม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ทางกรมฝนหลวงฯ ก็ยังคงเดินหน้าปฏิบัติงานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้งาน เพราะหากเมื่อฝนทิ้งช่วงไป และประกาศมีพื้นที่ภัยแล้ง พี่น้องเกษตรกรคงจะต้องลำบากกันเป็นแน่

สำหรับพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายว่า ในช่วงวันที่ 15 – 17 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมประเทศไทย ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่งโดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 18 – 21 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้นทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น