กรมประมงเตือนระวัง! “พิษปลาปักเป้า” หากบริโภคเสี่ยงอันตรายถึงตายได้

กรมประมงเตือนประชาชนระวัง!! พิษร้ายจากปลาปักเป้า แม้บริโภคเพียงเล็กน้อยแต่สามารถเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เผยส่วนใหญ่พบปะปนในเนื้อปลาแล่ที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป จึงขอให้ประชาชนและพ่อค้าแม่ค้าสังเกตให้ดีก่อนนำมาจำหน่ายหรือซื้อรับประทานเนื่องจากหากได้รับพิษเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังกรณีของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ได้รับอันตรายจากการบริโภคเนื้อปลาปักเป้าแล่ที่ซื้อจากตลาด โดยพิษทำให้เกิดอาการหมดสติและกล้ามเนื้อกระตุกไปทั้งตัว 

A1DB71DB 0B1F 4875 B782 465AE8956C80

นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยในฐานะโฆษกกรมประมง ว่า “ปลาปักเป้า” ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั้งในน้ำจืดและทะเล มีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ สำหรับพิษของปลาปักเป้าพบได้ทุกส่วนของตัวปลา ซึ่งพบมากที่บริเวณไข่ ตับ เครื่องใน และหนัง 

โดยสามารถแยกประเภทของพิษตามชนิดของปลาปักเป้าได้ดังนี้

          1. ปลาปักเป้าทะเล มีพิษที่เรียกว่า “เทโทรโดท็อกซิน” (Tetrodotoxin)  ซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท ทำให้เกิดอาการลิ้นชา อาเจียน กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง เดินเซขยับเขยื้อนไม่ได้ หายใจลำบาก ซึ่งหากมีอาการแพ้มากและรักษาไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยอาการมักเกิดอย่างรวดเร็วหลังรับประทานภายใน 5 – 20 นาที หรืออาจนานถึง 2 – 3 ชั่วโมง 

          2. ปลาปักเป้าน้ำจืด มีพิษที่จัดอยู่ในกลุ่ม PSP (Paralytic Shellfish Poison) เมื่อได้รับพิษเข้าสู่ร่างกายพิษจะเข้าไปขัดขวางเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อ จึงเกิดการยับยั้งการส่งกระแสประสาทและการส่งสัญญาณไฟฟ้าของเซลล์ต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชาและเกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย และที่เป็นอันตรายที่สุดคือการเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อช่วยหายใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวการณ์หายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

0B5DF434 EB23 4BF7 8AE3 BD6DD3C45387

          ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาปักเป้าอย่างเด็ดขาด  โดยควรสังเกตเลือกซื้อปลาที่ผ่านการแล่ทุกครั้ง  หากเป็นเนื้อปลาปักเป้าจะมีลักษณะชิ้นเนื้อหนา สีขาวอมชมพู ลายกล้ามเนื้อไม่ชัดเจน และมีเยื่อพังผืดหุ้มชิ้นเนื้อ เมื่อปรุงสุกเนื้อจะมีสีขาวคล้ายเนื้อไก่  ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยควรเลือกซื้อเนื้อปลาที่ผ่านการแล่จากแหล่งที่ทราบชนิด รวมถึงแหล่งที่มาของเนื้อปลา เพื่อลดความเสี่ยงการบริโภคปลาปักเป้าที่อาจเกิดอันตรายถึงตายได้

          โฆษกกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการรักษาพิษจากปลาปักเป้านั้นยังไม่มีตัวยาใดที่สามารถแก้พิษได้ และการใช้ความร้อนในการปรุงอาหารไม่สามารถทำลายพิษของปลาปักเป้าได้เช่นกันจึงขอฝากเตือนถึงประชาชนไม่ให้นำปลาปักเป้าทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นปลาปักเป้าน้ำจืดหรือปลาปักเป้าทะเลมาบริโภคโดยเด็ดขาด และหากสงสัยว่าได้รับพิษจากปลาปักเป้าให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน 

213C4B98 2848 4797 963B 4AEF2BF190FD

          นอกจากนี้ ผู้จำหน่ายจะมีความผิดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 264) พ.ศ. 2545เรื่อง การกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายปลาปักเป้าทุกชนิด และอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2545 ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตราที่50 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่  5,000 – 20,000 บาท อีกด้วย

          ติดต่อสอบถามข้อมูลวิชาการเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมงโทร. 02 940 6130 – 45 ต่อ 4212  หรือ E mail : [email protected]