เก็บตกงาน CIIE 2022 (เซี่ยงไฮ้).. โอกาสทองที่ไทยควรคว้าไว้ทุกปี

งาน China International Import Expo (CIIE) ครั้งที่ 5 ในฐานะหนึ่งในงานแฟร์ “ชิ้นโบว์แดง” ของจีน ได้ปิดฉากลงเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา แม้ว่าในช่วงระหว่างนั้นจีนจะยัง “คัดกรองเข้มงวด” สำหรับผู้เข้าชมงานเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในจีน แต่งาน CIIE 2022 ก็จบลงด้วยดีโดยสร้างมูลค่าความตกลงทางการค้าและบริการถึง 73,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากงาน CIIE ในปีก่อนหน้าร้อยละ 3.9

5 ปีที่ผ่านมา.. เดินหน้าสู่แพลตฟอร์มระดับโลก

เป็นปีที่ 5 แล้วที่จีนจัดงาน CIIE ขึ้นที่ National Exhibition and Convention Center ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 5 – 11 พฤศจิกายนของทุกปี (เป็นงานที่จีนไม่เลื่อนกำหนดการจัดงานแม้ว่าจะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม) โดยงาน CIIE นอกจากจะเน้นนิทรรศการแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีจากต่างประเทศแล้ว ยังมุ่งเชื่อมโยงทรัพยากรจากทั่วโลก ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการเข้าถึงตลาดจีน และร่วมมือกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพของจีน

หลายคนมักกล่าวกันว่า CIIE เป็น “เวทีประชัน” สินค้าและผลงานที่โดดเด่นของแต่ละธุรกิจทั่วโลก ใครมีอะไรดีหรืออะไรใหม่ก็มักจะนำมา “เปิดตัวครั้งแรก” ในงาน CIIE กันทั้งนั้น และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ สินค้าหรือผลงานที่นำมาจัดแสดงนั้น “ตื่นตาตื่นใจ” มากขึ้นทุกปี โดยภายในงาน CIIE ครั้งที่ 5 ได้มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ เทคโนโลยีใหม่ และบริการใหม่รวมถึง 438 รายการ (งาน CIIE ครั้งที่ 4 มี 422 รายการ)

นอกจากงานนิทรรศการแล้ว ยังมีการประชุม Hongqiao International Economic Forum ซึ่งมีการประชุมย่อยรวม 24 กิจกรรม รวมถึงการเปิดตัว World Openness Report 2022 ตลอดจนการประชุมคู่ขนานอื่น ๆ โดยมีการประชุมที่หน่วยงานไทยเข้าร่วมด้วย อาทิ การประชุม Forum on RCEP and High-Level Opening-Up การประชุม Sub-Forum on High-Level Institutional Opening-Up of Pudong and Global Economic Governance การประชุม RCEP Customs Brokers Association Inernational Forum 2022 และการประชุม 2022 Key Factors Bridging Conference on High-Quality Development of the G60 S&T Innovation Valley of the Yangtze River Delta เป็นต้น

สถิติน่าสนใจ.. ความสำเร็จครั้งใหม่ในปีที่ 5

ในฐานะเวทีประชันผลงานระดับโลก งาน CIIE ครั้งที่ 5 ยังคงมีพื้นที่จัดแสดงออฟไลน์ 366,000 ล้านตารางเมตร แบ่งเป็น 7 หมวดหมู่ ได้แก่ (1) อาหารและผลิตภัณฑ์เกษตร (2) ยานยนต์ (3) อุปกรณ์อัจฉริยะ (4) สินค้าอุปโภคบริโภค (5) ผลิตภัณฑ์การแพทย์และสุขภาพ (6) การค้าบริการ และ (7) การบ่มเพาะนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเป็นหมวดหมู่ใหม่ของงาน CIIE ครั้งนี้ รวมสินค้าและบริการทั้งสิ้น 6,224 ชนิด แบ่งเป็นสินค้าจากกลุ่มประเทศ “Belt & Road” 1,711 ชนิด และเป็นสินค้าจากกลุ่มประเทศ BRICS 160 ชนิด ที่น่าสนใจ คือ งาน CIIE ครั้งนี้มีสินค้าที่เข้าสู่ตลาดจีนเป็นครั้งแรกถึง 812 ชนิด

CIIE20230109 3 5
ชนิดสินค้าที่นำมาจัดแสดงในงาน CIIE 2022

หากจัดลำดับความฮอตฮิตชนิดสินค้าและบริการตามหมวดหมู่ที่นำมาจัดแสดงในงานจะพบว่า หมวดอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตรมาแรงเป็นอันดับที่ 1 (2,519 ชนิด) ตามด้วยหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค (1,812 ชนิด) หมวดผลิตภัณฑ์การแพทย์และสุขภาพ (1,115 ชนิด) หมวดอุปกรณ์อัจฉริยะ (451 ชนิด) หมวดการค้าบริการ (289 ชนิด) หมวดบ่มเพาะนวัตกรรม (25 ชนิด) และปิดท้ายด้วยหมวดยานยนต์ (13 ชนิด)

CIIE20230109 5
งาน CIIE 2022 (เซี่ยงไฮ้)

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตา คือ “จุดขายใหม่” ของแต่ละหมวดหมู่สินค้าในงาน CIIE ครั้งที่ 5 นั่นคือ

 หมวดอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตร มีจำนวนผู้ประกอบการเข้าร่วมจัดแสดงสินค้ามากที่สุด และมาจากหลากหลายประเทศมากที่สุด รวมถึงได้เพิ่มโซนจัดแสดงธุรกิจสายพันธุ์ผลผลิตการเกษตร โดย 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตและจำหน่ายธัญญาหารระดับโลก (ADM, CARGILL, Bunge และ Louis Dreyfus) ได้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าด้วย

– หมวดยานยนต์ มีผู้ประกอบการรถยนต์ 15 แบรนด์ดังทั่วโลกเข้าร่วมจัดแสดง (BMW, Hyundai, Mercedes-Benz, Tesla, TOYOTA, Volkswagen, Volvo เป็นต้น) อีกทั้งเพิ่มโซนจัดแสดงรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เป็นครั้งแรก

– หมวดอุปกรณ์อัจฉริยะ เพิ่มโซนจัดแสดงด้าน AI โดยเฉพาะ

– หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค มีผู้ประกอบการเครื่องสำอางครบทั้ง 10 แบรนด์ดังทั่วโลกเข้าร่วมจัดแสดง (Lancome, Estee Lauder, Shiseido, Dior, Chanel เป็นต้น) และมี 3 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคระดับไฮเอนด์ระดับโลก (LVMH, Richemont, Kering) เข้าร่วมจัดแสดง

– หมวดผลิตภัณฑ์การแพทย์และสุขภาพ เป็นครั้งแรกที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยายักษ์ใหญ่ระดับโลกมาเข้าร่วมงานครบทั้ง 15 แบรนด์ (Pfizer, Novartis, Roche, Johnson & Johnson, AbbVie เป็นต้น) และมีธุรกิจเครื่องมือแพทย์ 10 รายใหญ่ทั้วโลก (Medtronic, Abbott, Siemens Healthineers, Boston Scientific เป็นต้น) เข้าร่วมจัดแสดง

– หมวดการค้าบริการ เพิ่มหมวดย่อยด้านความบันเทิงและเกมส์ต่าง ๆ

ในส่วนของจำนวนผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าและบริการ งาน CIIE 2022 มีผู้ประกอบการกว่า 2,800 รายจาก 127 ประเทศและภูมิภาคเข้าร่วม ขณะที่ไทยเรียกได้ว่าเป็น “สมาชิกประจำ” ที่เข้าร่วมงาน CIIE ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2561

ในส่วนของผู้เข้าร่วมชมงานนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) ผู้เข้าร่วมชมงานแบบออฟไลน์ ซึ่งมีจำนวนกว่า 461,000 คน/ ครั้ง (น้อยกว่าปี 2564 ที่มีผู้เข้าชมออฟไลน์ 480,000/ ครั้ง) และ (2) ผู้เข้าร่วมชม Online Country Exhibition กว่า 59 ล้านครั้ง

สินค้าไทยเข้าประกวด.. อวดศักยภาพสู่สากล

ภายใต้การควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่เข้มงวด งาน CIIE ครั้งที่ 5 ยังคงมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมจัดแสดงสินค้ารวม 31 ราย ทั้งนี้ ไทยยังคงให้ความสำคัญอย่างสูงสุดกับการแสดงสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตรซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตรรวม 25 ราย มีผู้ประกอบการที่จัดแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องสำอาง 4 ราย และมีผู้ประกอบการจัดแสดงในส่วนผลิตภัณฑ์การแพทย์และสุขภาพ 2 ราย

เป็นที่น่ายินดีว่า การเข้าร่วมงาน CIIE ได้สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยไม่น้อย โดยจากผลการเจรจาการค้าของตัวแทนผู้ประกอบการสินค้าไทยที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้กับกระทรวงพาณิชย์พบว่า มีมูลค่าสั่งซื้อสินค้ารวมประมาณ 10.416 ล้านหยวน (ประมาณ 57.288 ล้านบาท) แบ่งเป็นมูลค่าสั่งซื้อทันทีประมาณ 1.652 ล้านหยวน (ประมาณ 9.086 ล้านบาท) โดยคาดการณ์มูลค่าสั่งซื้อภายใน 1 ปีประมาณ 8.764 ล้านหยวน (ประมาณ 48.202 ล้านบาท) ทั้งนี้ สินค้าไทยที่ได้รับความสนใจ อาทิ น้ำมะพร้าว ข้าวหอมมะลิ ผลไม้อบแห้ง ทุเรียนอบกรอบ ข้าวตัง ชาอู่หลง และกาแฟ เป็นต้น

เตรียมพบโอกาสดี.. กับ CIIE ครั้งที่ 6 (ปี 2566)

จะเห็นได้ว่า บริษัทแบรนด์ดังทั่วโลกในสาขาต่าง ๆ ล้วนให้เข้าร่วมงาน CIIE อย่างคับคั่ง งาน CIIE จึงนับเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มสำคัญที่สามารถใช้นำเสนอสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีน สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจในตลาดจีนได้ไม่น้อย เนื่องจากเป็นงานยักษ์ใหญ่ระดับชาติของจีนที่รวบรวมทั้งผู้ซื้อ ตัวแทนจำหน่าย องค์กรและหน่วยงานรัฐบาล ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีที่สามารถใช้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ สามารถศึกษาแนวโน้มของตลาดจีนจากสินค้าต่าง ๆ (รวมถึงสินค้าคู่แข่ง) ที่มาเข้าร่วมจัดแสดงในงาน

ทั้งนี้ โดยที่งาน CIIE เป็นโอกาสในการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ของหลายธุรกิจ ในงาน CIIE ครั้งหน้า ไทยนอกจากจะมุ่งแสดงสินค้าอาหารและเกษตรแล้ว ก็ควรพิจารณานำสินค้าและบริการไทยที่สะท้อนนวัตกรรมใหม่มาเข้าร่วมด้วย อาทิ การผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคต สินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีดีไซน์สมัยใหม่ นวัตกรรมด้านการทำสื่อโฆษณาและด้านบันเทิง ตลอดจนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ Bio-Circular-Green (BCG) Economy ที่ไทยมุ่งผลักดัน เป็นต้น

ล่าสุดเมื่อ 26 ธันวาคม 2565 คณะรัฐมนตรีจีนได้ลดความเข้มงวดการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 จากระดับ A เป็นระดับ B โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งจีนจะ (1) ยุติการตรวจสอบบุคคลและสินค้าที่มาจากต่างประเทศ (2) ยุติการกักตัวผู้ติดเชื้อ และ (3) ยุติการพิจารณาผู้สัมผัสใกล้ชิด เป็นต้น อีกทั้งเมื่อ 27 ธันวาคม 2565 คณะรัฐมนตรีจีนยังได้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มเติม โดย (1) พิจารณาผลตรวจ NAT ที่เป็นลบและออกภายใน 48 ชั่วโมงก่อนเดินทางสำหรับบุคคลเดินทางมาจากจากต่างประเทศ (2) ยุติการตรวจ NAT ที่ด่านเข้าเมืองสำหรับบุคลที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (3) เพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ (4) ฟื้นฟูการให้บริการวีซ่าจีน และ (5) ฟื้นฟูการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

ข้อมูลข้างต้นนับเป็น “ข่าวดี” ที่สะท้อนให้เห็นว่า ปี 2566 จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จีนจะเริ่มกลับมาสู่สภาพเดิมก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 บุคคลจากต่างประเทศจะสามารถเดินทางเข้าจีนได้สะดวกยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่า งาน CIIE ครั้งที่ 6 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5 – 11 พฤศจิกายน 2566 จะเป็นงานยักษ์ใหญ่ที่กลับมามีความคึกคักอีกครั้ง ผู้ประกอบการจากต่างชาติและไทยจะสามารถเข้ามาแสวงหาโอกาสธุรกิจในตลาดจีนได้โดยตรงอย่างสะดวกขึ้น

ที่มา :ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้