ม็อบชาวนาข้างก.คลังที่ปักหลักข้างคืนยาวนานกว่า 2 เดือนยอมสลายตัว หลังธ.ก.ส.ปฏิบัติตามมติ ครม. ปรับโครงสร้างหนี้

นายถาวร เสนเนียม ประธานพรรคไทยภักดี เปิดเผยว่า จากที่เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ตนได้เดินทางไปรับฟังปัญหาของพี่น้องเกษตรกร ที่ปักหลักค้างคืนอยู่บริเวณข้างกระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 โดยเกษตรกรกลุ่มนี้มีปัญหาหนี้สินเกษตรกร เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามมติ ครม. ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกร ล่าสุด 11 มกราคมที่ผ่านมา ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เข้าดำเนินการเจรจากับกลุ่มหนี้สินชาวนาจนได้ข้อยุติเป็นที่พอใจและได้แยกย้ายกลับภูมิลำเนาแล้ว

325232013 473929774928900 4181019234350805344 n 1
ม็อบชาวนาข้างกระทรวงการคลังสลายตัว

นายถาวร ยังได้โพสต์เฟซบุ๊ก มีใจความว่า แสดงความยินดีกับกลุ่มพี่น้องเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยที่ต้องชุมนุมกันข้างกระทรวงการคลังมาเป็นเวลายาวนานเพื่อเรียกร้องให้ ธ.ก.ส เร่งดำเนินการช่วยเหลือปัญหาหนี้สินของชาวนาตามมติ ครม.ความล่าช้าของ ธ.ก.ส.ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนาเป็นอย่างมากหลายคนถูกยึดบ้านยึดที่ไร้ที่อยู่อาศัยไร้ที่ทำมาหากิน ซึ่งตนได้ดำเนินการช่วยเหลือติดตามทวงถามได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ทราบถึงปัญหาให้ ธ.ก.ส.เร่งปฏิบัติตามมติครม. อย่างเร่งด่วน

325410526 1101855407151590 6182430663493956099 n
ม็อบชาวนาข้างกระทรวงการคลังสลายตัว

และในวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ธ.ก.สได้เข้าดำเนินการเจรจากับกลุ่มหนี้สินชาวนาจนได้ข้อยุติเป็นที่พอใจแยกย้ายกลับไปภูมิลำเนาทำงานทำนาเลี้ยงครอบครัวต่อไปถือเป็นความสำเร็จของประชาชนที่ร่วมกันต่อสู้โดยมีตนและเครือข่ายอีกหลายคนที่ให้กำลังใจและช่วยเหลือ และคุณมนู สินพร ตัวแทนเครือข่ายชาวนา ได้แสดงความยินดีและขอบคุณตนมาในโอกาสนี้

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ นายถาวร เสนเนียม ประธานพรรคไทยภักดี ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ใจความว่า

ด้วยมีกลุ่มเกษตรกรที่มาชุมนุมและนอนพักค้างคืนอยู่ที่ใต้ทางด่วนถนนพระราม ๖ หน้ากระทรวงการคลัง ได้เข้าร้องเรียนกับข้าพเจ้าว่าได้รับความเคือดร้อนในปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะหนี้สินเกษตรกร ข้าพเจ้าจึงไปรับฟังปัญหาจากกลุ่มเกษตรกร ณ ที่ชุมนุมนั้น จึงได้รับทราบว่า กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๕ ให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน ๕๐,๖๒๓ ราย ดังนี้

๑. เห็นชอบในหลักการการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยให้เกษตรกรฯ ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิมโดยพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ ๕o) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน และให้เกษตรกรฯ ทำสัญญาผ่อนชำระหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ ๕o) ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน แต่ไม่เกิน ๓๕ ปี สำหรับการชดเชยเงินต้นร้อยละ ๕o ในส่วนที่เกษตรกรฯ ไม่ต้องรับภาระ กลุ่มเป้าหมาย จำนวน ๕o,๖๒๓ ราย รัฐจะรับภาระในการจัดสรรเมื่อเกษตรกรฯ ได้ชำระหนี้คืนงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว

ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร) ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดรายละเอียดและแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการข้างต้น รวมถึงกำหนดกรอบวงเงินสำหรับดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสม และดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป

๒.ในส่วนของการขอยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระของธนาคารรัฐ ๔ แห่ง ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานกองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการดำเนินการให้ได้ข้อยุติที่เหมาะสมแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

๓.รับทราบการยกเลิกหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ยั่งยืน (ลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ๒๕’๖๑ (เรื่อง โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ยั่งยืน (ลูกหนี้ ธ.ก.ส.)

๔.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร) ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้เกษตรกร จำนวน ๕o,๖๒๓ รายดังกล่าวข้างต้น ได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนในกรอบการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือนของ คจพ. ด้วย
.

๕. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานกองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรวมทั้งข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง เช่น ประเมินผลการดำเนินการของกองทุนฯ ทบทวนและปรับปรุงรูปแบบการดำเนินโครงการ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ควรให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลและการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศหลักเกณฑ์ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตลอดจนเงื่อนไขและวิธีดำเนินโครงการฯ อย่างเคร่งครัด ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

แต่จนบัดนี้ระยะเวลาได้ล่วงเลยมานานถึง ๘ เดือนเศษ การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐ ๔ แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด กลุ่มเกษตรกรต้องเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ต้องแบกรับภาระหนี้สินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา เกษตรกรต้องถูกฟ้องดำเนินคดีในศาล และหลายรายกำลังจะถูกยึดทรัพย์ บางรายต้องจำใจกู้เงินนอกระบบในอัตราดอกเบี้ยสูงมาเป็นคำาใช้จ่ายในการสู้คดีและดำรงชีพ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ยากไร้มีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ แต่ปัจจัยการผลิตมีราคาสูง

ปัญหาความเดือดร้อนนี้เกิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาไม่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีให้รวดเร็วทันกับความเดือดร้อนของเกษตรกร ด้วยเหตุนี้จึงใคร่ขอนายกรัฐมนตรีได้ช่วยติดตาม ตรวจสอบ และเร่งรัดการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร) กระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนารัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดด้วย