ผ่าวิสัยทัศน์…อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรคนใหม่ “สุพิศ พิทักษ์ธรรม”

ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ทรงตระหนักและเล็งเห็นในคุณค่าของแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พระองค์ทรงยึดมั่นที่จะสืบสาน รักษาและต่อยอดแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นแสงสว่าง นำทางตามรอยพระราชปณิธานไปสู่ความผาสุกแก่ประชาชนและประเทศชาติสืบไป

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าวมาใช้ในการปฏิบัติงานตามภารกิจการทำฝนหลวง รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนและการดัดแปรสภาพอากาศ ให้เกิดเป็นฝนภายใต้แนวคิดพระราชทาน “ทำให้เมฆรวมตัวตกลงมาเป็นฝน” ตลอดจนภารกิจด้านการบินเกษตร

mr suphit
สุพิศ พิทักษ์ธรรม

ในวันที่ 25 มกราคม 2566 นี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะมีอายุครบ 10 ปี ภายใต้การนำของกัปตันคนใหม่ว่าที่อธิบดี “สุพิศ พิทักษ์ธรรม” รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะมีวิสัยทัศน์ที่จะบริหารงานนำองค์กรสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายและภารกิจภายใต้นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรฯ และแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ อย่างไรบ้าง

6 1 083
ปฏิบัติการฝนหลวง

ว่าที่อธิบดีกรมฝนหลวงฯ สุพิศ พิทักษ์ธรรม กล่าวไว้ว่า… “การทำให้องค์กรพัฒนาสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้นั้น ผู้บริหารระดับอธิบดี รองอธิบดี มีส่วนสำคัญ จะต้องตั้งใจที่จะพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า ผมวางแผนการทำงานไว้ 7 มิติ ที่จะนำกรมฝนหลวงและการบินเกษตรก้่าวไปสู่ความสำเร็จ” สำหรับ 7 มิติดังกล่าวประกอบด้วย

มิติที่ 1 การปฏิบัติการฝนหลวงหรือการทำฝนหลวงต้องแบบ “เต็มอิ่ม” หมายถึง การระดมทรัพยากรทั้งเครื่องบิน บุคลากร และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขึ้นทำฝนในพื้นที่เป้าหมายทันทีที่สภาวะอากาศพร้อม ให้เพียงพอในเชิงปริมาณน้ำ ความชุ่มชื้น ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะทำให้ฝนตกได้ในปริมาณที่มากขึ้นสำเร็จตามวัตถุประสงค์ จากเดิมเวลาที่ขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวง จะใช้เครื่องบินชุดละ 2 ลำเท่านั้น และจะปฏิบัติการทำฝนหลวงกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทำให้ได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ หลังจากนี้กรมฝนหลวงฯจะปรับเปลี่ยนแนวทาง

322393916 1857368691287578 8365042695703618203 n
ปฏิบัติการฝนหลวง

มิติที่ 2 นำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน เช่น การนำอากาศยานไร้นักบิน(UAV) หรือโดรนมาใช้ในการทำฝนและการตรวจสภาพอากาศแทนการยิงบอลลูน พัฒนาเทคโนโลยีในการโปรยสารทำฝนแบบอัตโนมัติแทนการใช้คนโปรย ปรับวิธีการบดสารฝนหลวงโดยใช้เครื่องจักร พร้อมวิธีจัดเก็บสารฝนหลวงที่คงสภาพเพื่อยึดอายุการใช้งาน ปรับเทคโนโลยีการลำเลียงสารทำฝนหลวง

325565626 499383665640596 5895920489409595011 n
ปฏิบัติการฝนหลวง

มิติที่ 3 ใช้ทรัพยากรให้มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยการกระจายต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) เช่น การใช้เครื่องบินแต่ละลำต้องปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ คุ้มค่า และใช้ประโยชน์ได้ทุกช่วงเวลา ในช่วงเวลาพักการทำฝนหลวง ก็สามารถนำไปใช้ในภารกิจหรือกิจกรรมอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการบินเพื่อปฏิบัติราชการของผู้บริหารในพื้นที่ห่างไกล การบินสำรวจพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำเพื่อการป้องกัน แก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง การบินสำรวจทางอากาศเพื่อการเกษตร เป็นต้น

มิติที่ 4 มุ่งเน้นการเกิดงานวิจัย กรมฝนหลวงฯจะให้ความสำคัญกับงานวิจัย เพราะงานวิจัยจะสามารถตอบข้อสงสัย แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งจะนำมาพัฒนาต่อยอดให้สามารถนำมาใช้งานได้จริง ทั้งที่เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับภารกิจโดยตรง หรืองานวิจัยเพื่อนำไปใช้ในกระบวนงานสนับสนุน

มิติที่ 5 ขยายเครือข่ายอาสาฝนหลวง อาสาสมัครฝนหลวง จะเป็นตัวแทนของกรมฝนหลวงฯได้ดีที่สุดในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารจากกรมฝนหลวงฯ ไปสู่ประชาชนในพื้นที่ และสะท้อนปัญหาในพื้นที่ย้อนกลับมายังกรมฝนหลวงฯ จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างถูกต้องและตรงกับเป้าประสงค์มากที่สุด

มิติที่ 6 ปรับวัฒนธรรมองค์กร เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมฝนหลวงฯ โดยสร้างวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำหน้าที่ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เน้นการเรียนรู้ และมีความยืดหยุ่นในการทำงาน

และมิติที่ 7 ยกระดับธรรมาภิบาลในภาครัฐ เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องถูกต้องตามกฎระเบียบ ข้าราชการของกรมฝนหลวงฯทุกคนจะต้องไม่ถูกสอบสวนในเรื่องทุจริต การบริหารงบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย เป็นธรรม มีการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย เพื่อชั่งน้ำหนักเพื่อประโยชน์สูงสุด

“ความยิ่งใหญ่ของผู้นำนั้น จะต้องปราศจากข้อครหาเรื่องการคอร์รัปชั่น” ว่าที่อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกล่าวย้ำในตอนท้าย