เกษตรฯหนุนตั้ง”โรงนมพาสเจอร์ไรส์”จ.ศรีสะเกษ กระจายนมคุณภาพดีสู่ท้องถิ่น

“รมช.มนัญญา” หนุนสหกรณ์โคนมศรีสะเกษขยายพื้นที่เลี้ยงโคนม สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรโคนมไทย  เล็งตั้ง”โรงงานนมพาสเจอร์ไรส์” กระจายน้ำนมดีมีคุณภาพในจังหวัด เพิ่มศักยภาพการผลิต แข่งขันต่างประเทศ

นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดศรีษะเกษ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายสมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์โคนมศรีสะเกษ จำกัดอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ว่า สหกรณ์โคนมศรีสะเกษ จำกัด ถือเป็นสหกรณ์ต้นแบบ ที่ได้ขับเคลื่อนงานนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านการพัฒนาสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งโดยได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อจัดหาครุภัณฑ์ และสิ่งก่อสร้างจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกสหกรณ์ให้สามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป

0296D368 018F 45E4 A52E D62042914464

นอกจากนี้ สหกรณ์ฯ ได้มีการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมเชิงบูรณาการแบบมีส่วนร่วม เพื่อสานต่ออาชีพพระราชทาน สร้างงาน สร้างอาชีพ บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียงโดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน กองทุนพัฒนาสหกรณ์ โครงการพัฒนาการผลิตน้ำนมโคที่มีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต วงเงิน 5,000,000 บาทสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็นแก่สหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ แนะนำส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือน กรมปศุสัตว์ แนะนำส่งเสริมการเลี้ยงโคนมที่ถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมพัฒนาฟาร์มโคนมตามเกณฑ์มาตรฐาน เป็นต้น 

79FDAB11 0B29 457B 8AA6 E9E6A03CB8C5

ปัจจุบันสหกรณ์มีจำนวนโคนมทั้งหมด 3,309 ตัว ปริมาณการรวบรวมน้ำนมดิบ3,253.05 ตัน มูลค่า 57.97 ล้านบาท ปริมาณการจำหน่ายน้ำนมดิบ 3,026 ตัน มูลค่า 59.04 ล้านบาทโดยมีแผนงานในอนาคต จะสร้างโรงงานนมพาสเจอร์ไรส์ เพื่อสร้างตลาดการบริโภคในท้องถิ่น ซึ่งผลประโยชน์ที่จะได้รับ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มน้ำนมโคเฉลี่ยปีละ 14.3 ล้านบาท ลดการสูญเสียในระหว่างการขนส่ง ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง 1.44 ล้านบาท สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงโคนมมากขึ้น อีกทั้งนักเรียน ประชาชนในจังหวัดศรีษะเกษและจังหวัดใกล้เคียงได้บริโภคน้ำนมที่มีคุณภาพ

“กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของนมโรงเรียน ซึ่งการบริโภคนมนอกจากจะส่งเสริมสุขภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรโคนมไทยได้อีกด้วย เพราะหากสหกรณ์โคนมเข้มแข็ง ก็ส่งผลให้นักเรียนได้บริโภคนมที่มีคุณภาพ และกระจายสู่ท้องถิ่นโดยไม่ต้องรับซื้อจากจังหวัดอื่นๆ อีกเรื่องที่สำคัญคืออยากให้เกษตรกรหันมาใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ข้าวโพด ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ และจะต้องขยายพื้นที่การเลี้ยงโคนมให้มีคุณภาพ เพิ่มศักยภาพการผลิต แข่งขันกับต่างประเทศ และลดการนำเข้า ส่วนในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ จ.ศรีษะเกษ มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจากการที่กรมวิชาการเกษตรเข้ามาสนับสนุน ทำให้มีการบริโภคภายในจังหวัดไม่เพียงพอ เป็นการยกระดับสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูป การตรวจสอบและการรับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศ” รมช.มนัญญา กล่าว

81075453 BCDA 44AC 8740 3E72EB8D0760

สำหรับสหกรณ์โคนมศรีสะเกษ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 77 หมู่ 6 ตำบลหนองไฮ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2542 ประเภทสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์มีผลงานดีเด่น ได้รับรางวัลสหกรณ์ดีเด่นระดับจังหวัด พ.ศ.2565 และสหกรณ์ดีเด่นระดับภาค พ.ศ.2565 ปัจจุบันสหกรณ์ฯ  มีสมาชิก 137 คน มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 57.12 ล้านบาท ทุนเรือนหุ้น 6.02 ล้านบาท ทุนสำรอง 9.64 ล้านบาท อาชีพส่วนใหญ่ของสมาชิกเลี้ยงโคนม ธุรกิจหลักของสหกรณ์รวบรวม (น้ำนมดิบ) มีมูลค่าธุรกิจรวมทั้งสิ้น 188.38 ล้านบาท 

61A74652 D4E5 487F 9EF7 5FAB4F0DEADD

โอกาสนี้ นางสาว มนัญญา ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ การส่งเสริมอาชีพโคนมเชิงบูรณาการแบบมีส่วนร่วมของสหกรณ์โคนมศรีษะเกษ จำกัด การดำเนินงานของร้านซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร การส่งเสริมแอปพลิเคชั่นสหกรณ์การเกษตร นิทรรศการเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม การส่งเสริมแอปพลิเคชั่นสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีษะเกษ จำกัด เป็นต้น ตลอดจนมอบใบรับรอง GAP และเกษตรอินทรีย์ ให้แก่ผู้แทนเกษตรกร 2 ราย มอบปัจจัยการผลิต ท่อนพันธุ์อ้อยคั้นน้ำ ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง สารชีวภัณฑ์และพันธุ์สัตว์น้ำ ให้กับตัวแทนเกษตรกร พร้อมพบปะเกษตรกร จากนั้นประชุมรับฟังแก้ไขปัญหาผลผลิตตกต่ำ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตน้ำนมโคของสหกรณ์ฯ เพื่อพิจารณาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมต่อไป