เฉลิมชัย ไฟเขียวแผนพัฒนาประมงแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนฉบับแรกของประเทศ – เดินหน้า8โครงการเชิงรุกทันที

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขงเปิดเผยวันนี้(20 พ.ค.)ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/ 2565 เป็นการประชุมแบบ Hybrid ณ ห้องประชุม 134 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านการประชุมออนไลน์ zoom cloud meeting พร้อมด้วย คณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมี นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง ทำหน้าที่เลขานุการการประชุม ว่า

S 7995452
ไฟเขียวแผนพัฒนาประมงแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการฯ ได้เสนอแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 – 2570 และได้รับความเห็นชอบจากดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมแล้วให้ดำเนินการตามแผนเป็นฉบับแรกของประเทศเพื่อป้องกันและรองรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงระนิเวศที่เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนริมแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้กรมประมงเดินหน้าขับเคลื่อน 8 โครงการ ดังนี้

1.โครงการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงเพื่อสร้างรายได้

2.โครงการส่งเสริมอาชีพประมง กิจกรรมพัฒนาศักยภาพเกษตรกร

3.โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม

4.โครงการปล่อยปลาเอิน (ปลายี่สกไทย) คืนสู่แม่น้ำโขง

5.โครงการ “ประมงอาสาพาปลากลับบ้าน ในพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ” ด้วยชุดอุปกรณ์เพาะฟักแบบเคลื่อนที่ (Mobile hatchery)

6.กิจกรรมการติดตามผลจับสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงและการศึกษาความชุกชุมและความหลากหลายสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง ประเทศไทย (FADM)

7.กิจกรรมบริหารจัดการทรัพยากรประมงเชิงระบบนิเวศ (EAFM) ชุมชนประมงแม่น้ำโขง

8.โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพระบบนิเวศแหล่งปลาหน้าวัดบริเวณแม่น้ำโขง

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า แม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติจากภาวะระดับน้ำขึ้นน้ำลงแบบฉับพลันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯจึงมีมติมอบหมาย ฝ่ายเลขานุการฯดำเนินการศึกษาและนำเสนอระบบการติดตามและแจ้งข่าวสาร (Monitor & Information)เพื่อติดตามปัญหาการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในลุ่มน้ำโขงที่กระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำโขงและควรออกแบบระบบใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต Next Normal

และมอบหมายฝ่ายเลขานุการ ฯ จัดการประชุมหารือเครือข่ายภาคประชาสังคมลุ่มน้ำโขงและหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำข้อเสนอประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขเสนอต่อคณะกรรมการฯและรัฐมนตรีเกษตรฯเพื่อพิจารณาเสนอในการประชุมประมงเอเปค(APEC)ในวาระที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ในเดือนพฤศจิกายนนี้โดยต้องไม่มีประเด็นการเมืองในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจมาเกี่ยวข้องในการสัมมนาดังกล่าวซึ่งตัวแทนเครือข่ายลุ่มน้ำโขงภาคประชาสังคมและตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วยเนื่องจากมีความพยายามโยงเรื่องการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาแม่น้ำโขงกับการเมืองระหว่างประเทศจนเกิดความเข้าใจผิดและเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของฝ่ายต่างๆ

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบรายงานการจัดตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นใน 8 จังหวัดริมน้ำโขงได้แก่ จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดเชียงราย และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และขยายพลับพลึงธารที่พบในจังหวัดริมแม่น้ำโขงซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ เดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นพืชน้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ซึ่งเดิมพบแต่ในจังหวัดพังงาและระนอง

รวมทั้งมอบหมายให้กรมประมงติดตามตรวจสอบเครื่องมือประมงที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นเครื่องมือทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรุนแรง ตลอดจนการส่งเสริมการเลี้ยงสาหร่ายเป็นอาหาร เวชสำอางค์และเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งสาหร่ายทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ(Climate Change)ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย