คุณหญิงกัลยา ลงพื้นที่ติดตามผลโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน โมเดลต้นแบบเกษตรในเมือง เกษตรชานเมือง พร้อมขยายผลอีกกว่า 600 โรงเรียน

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) และคณะทำงานโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี และโรงเรียนเทพศิรินทร์ คลองสิบสาม ปทุมธานี เมื่อวานนี้ (1 ก.พ.) โดยมีนาย สิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายนรินธรณ์ เซ่งล้ำ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จ.ปทุมธานี พร้อมคณะให้การต้อนรับ

messageImage 1675267069730
โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียนถือเป็นนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญ และเป็นเป้าหมายของการศึกษาโลกที่ต้องการออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์อนาคตและสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ คือ 1. เด็กต้องเรียนอย่างมีความสุข ครูต้องมีความสุขในการสอน 2.ระหว่างเรียนต้องมีรายได้ จบแล้วต้องมีงานทำ เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทันสมัย 4.ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี แข่งขันได้ เพื่อให้สามารถอยู่ในโลก VUCA World ที่พร้อมรับมือกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

messageImage 1675267158099
โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน

“โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตเป็นโครงการที่ดิฉันคิดขึ้นมา โดยมีหลักคิดว่าทำอย่างไรจะทำการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการตกงาน จนเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมาซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและทุ่มเท จนประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วเพียง 6 เดือนเท่านั้นหลังจากเริ่มต้นโครงการในปี 2562 ซึ่งทั้ง 2 โรงเรียนที่มาวันนี้ถือเป็นโมเดลตัวอย่างความสำเร็จของโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต ในโรงเรียนทั้งเป็นรูปแบบเกษตรในเมืองและชานเมือง ที่สามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ CODING มาประยุกต์กับด้านการเกษตรให้เกิดผลผลิตในเชิงพาณิชย์ภายใต้พื้นที่ที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

messageImage 1675267509892
โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน

ปัจจุบันโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต ในโรงเรียน ได้ขยายผลจากโรงเรียนนำร่อง 6 โรงเรียน ไปสู่โรงเรียนในสังกัดเพิ่มอีกเกือบ 400 โรงเรียน จากโรงเรียนที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการมากกว่า 600 โรงเรียน ซึ่งทาง สพฐ.จะดำเนินการขยายผลไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มากที่สุด รวมไปถึงโรงเรียนการศึกษาพิเศษ

messageImage 1675267320563
โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน

โดยดร.คุณหญิงกัลยาและคณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชม ศูนย์การเรียนรู้ในโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี และโรงเรียนเทพศิรินทร์ คลองสิบสาม ปทุมธานี เช่น แปลงปลูกผักสวนครัว การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การเลี้ยงปลาสวยงาม โรงเพาะเห็ด โรงเรือนเมล่อน ไม้ผล สวนป่าสมุนไพร เป็นต้น

ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน โดยเน้นการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ STEAM Education ที่บูรณาการรายวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาการคำนวณ กับการทำเกษตรแบบประณีตในโรงเรียน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะและสามารถนำองค์ความรู้มาสู่การปฏิบัติ สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้ภายในโรงเรียนและนำไปสู่การผลักดัน ให้เกิดการยกระดับกระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าภาคเกษตร ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี และโรงเรียนเทพศิรินทร์คลองสิบสาม ปทุมธานีเป็นหนึ่งในโรงเรียนของโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 4 ตามลำดับ โดยทั้งสองโรงเรียนได้นำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และ CODING เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบของโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ในรูปแบบเกษตรในเมือง และเกษตรชานเมือง ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ลงมือปฏิบัติกิจกรรม และประเมินผล โดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์นำมาต่อยอดพัฒนาโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน และส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่สำคัญเกิดจากความร่วมมือกับเครือข่ายภาคเอกชน ชุมชน และภาคประชาสังคมที่ให้การสนับสนุนในการดำเนินการ