ด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสเมื่อวันที่ 19ธันวาคม 2560 ณ โรงเรียนท่านผู้หญิงพรสม กุณฑลจินดา อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ให้ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามให้แก่โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการฝึกทักษะอาชีพและเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้เสริมให้แก่เยาวชนไทย
กรมประมง หนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมสนองงานในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะการดำเนินงานโครงการสนับสนุนด้านการประมงตามพระราชดำริภายใต้โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามมาต่อยอดในการจัดทำโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามในโรงเรียนพื้นที่ กทม.ขึ้นให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามในโรงเรียนพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถูกขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานอย่างบูรณาการร่วมกันระหว่างโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมประมง สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม เป็นการฝึกทักษะอาชีพให้สามารถก่อให้เกิดรายได้จากการเลี้ยงและจำหน่ายสัตว์น้ำสวยงาม ผ่านการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม และสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม อาทิ ตู้กระจกพร้อมชั้นวาง เครื่องสูบน้ำแบบจุ่ม ถังออกซิเจน เครื่องให้อากาศ พันธุ์ปลาหางนกยูง ปลากัด ปลาสอด อาหารปลาและวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น ให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ
ปัจจุบันโครงการดังกล่าว ได้มีการนำร่องการดำเนินงานโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีความพร้อมเรียบร้อยแล้วจำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่
1. โรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ เขตบางนา
2. โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ เขตมีนบุรี
3. โรงเรียนสุเหร่าลำแขก เขตหนองจอก
4. โรงเรียนเคหะทุ่งสองห้องวิทยา 1 เขตหลักสี่
5. โรงเรียนวัดสิตาราม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
6. โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง
โดยกรมประมงมอบหมายสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานครลงพื้นที่รับฟังปัญหาและอุปสรรคกับโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานให้เหมาะสมกับศักยภาพของโรงเรียนแต่ละแห่ง นอกจากนี้ยังเชิญเกษตรกรศูนย์เครือข่ายด้านการประมงในพื้นที่เข้ามาร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำแนะนำและให้องค์ความรู้จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจริง เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้หันมาสนใจเรียนรู้ และนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดสร้างเป็นอาชีพได้ในอนาคต
ด.ช.ธนิศร์ เนืองทอง (น้องโชค) นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จากโรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว ทำให้ตนมีความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามจนสามารถต่อยอดเพาะขยายพันธุ์และจำหน่ายจนเกิดเป็นรายได้เสริมแทนที่จะใช้เวลาว่างไปเล่นสนุกจึงเลือกหันมาผ่อนคลายจากการเรียนด้วยการเลี้ยงปลาแทน โดยครั้งแรกสามารถนำความรู้ที่ได้ไปเพาะพันธุ์ปลากัดหม้อที่บ้านและนำไปขายที่ตลาดปลาสวยงามได้เงินมา 600 บาท ทำให้มีแรงบันดาลใจในการเพาะเลี้ยงปลาอื่น ๆ อาทิ ปลาสอด ปลาหางนกยูง ปัจจุบันได้มีการช่วยพี่ ๆ จากกรมประมง และอาจารย์ในการถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ให้กับเพื่อน ๆ เพื่อให้ช่วยกันเพาะพันธุ์ปลาได้เยอะ ๆ เวลาที่โรงเรียน หรือวัดทองสัมฤทธิ์ มีจัดงานต่าง ๆ ก็จะนำปลาไปขายเพื่อนำเงินเข้าโรงเรียนมาใช้ประโยชน์ต่อไป ในปีหน้าหากทางโรงเรียนยังได้ร่วมโครงการฯ อยากให้กรมประมงนำความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงปลาทอง มาสอนที่โรงเรียนเนื่องจากเป็นปลาสวยงามที่เป็นความต้องการของตลาด
ด.ญ.รัตนา เอื้อถาวรกุล (น้องเนย) นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จากโรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ ที่กรมประมงจัดขึ้น เนื่องจากเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยได้เรียนรู้การเลี้ยงปลาหางนกยูงทั้งเพาะเลี้ยง การแยกชนิดสายพันธุ์ การผสมพันธุ์ การล้างทำความสะอาดตู้ปลา และการอนุบาลลูกปลา ซึ่งจากเดิมเลี้ยงปลาหางนกยูงที่บ้านอยู่แล้วแต่ไม่มีความรู้ด้านวิธีการเพาะขยายพันธุ์ การเข้าร่วมโครงการจึงเป็นสิ่งที่ดีเพราะในอนาคตเพื่อน ๆ บางคนอาจนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมได้ จึงอยากขอเชิญชวนเพื่อน ๆ จากโรงเรียนอื่นมาร่วมโครงการนี้ เพราะนอกจากได้ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามแล้ว ยังได้รู้จักเพื่อน ๆ น้อง ๆ ในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นการสร้างความสามัคคีในโรงเรียนอีกด้วย
รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามในโรงเรียนพื้นที่กรุงเทพมหานคร นับเป็นอีกหนึ่งในโครงการที่กรมประมงมุ่งมั่นดำเนินการ พัฒนาให้สถานศึกษาเป็นจุดเรียนรู้หรือศูนย์ถ่ายทอดความรู้การเพาะเลี้ยงปลาสวยงามที่ใกล้ชิดกับเยาวชน ด้วยการสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามในโรงเรียน ทั้งการอบรมให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม การจัดการผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างช่องทางตลาด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสุดยอดนักเพาะปลาสวยงามของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกต่อไปได้