กระทรวงเกษตรฯ ไถ่ชีวิตโค-กระบือ ถวายเป็นพระราชกุศล

กระทรวงเกษตรฯ จัดพิธีไถ่ชีวิตโค-กระบือ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีฯ พร้อมสนับสนุนให้มีการบูรณาการร่วมกันในพื้นที่อย่างเป็นระบบ มีการรวมกลุ่มเกษตรกรและให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและต่อยอดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

306048

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีไถ่ชีวิตโค-กระบือ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองศาลา ตำบลหนองศาลา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการดำเนินงาน ประกอบกับมีการทำงานบูรณาการร่วมกันในพื้นที่อย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรและให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ตลอดจนมีการต่อยอดการใช้ประโยชน์ เช่น การใช้มูลสัตว์เป็นปุยในไร่นา การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น

306047

สำหรับโคเพศเมีย จำนวน 233 ตัว ที่ได้รับการไถ่ชีวิตในวันนี้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี จะนำไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ 1) อำเภอชะอำ จำนวน 37 ตัว 2) อำเภอท่ายาง จำนวน 106 ตัว 3) อำเภอบ้านลาด จำนวน 20 ตัว 4) อำเภอเมืองเพชรบุรี จำนวน 20 ตัว 5) อำเภอบ้านแหลม จำนวน 20 ตัว 6) อำเภอเขาย้อย จำนวน 21 ตัว และ 7) อำเภอหนองหญ้าปล้อง จำนวน 10 ตัว และเมื่อครบสัญญาแล้ว เกษตรกรจะได้รับกรรมสิทธิ์โคเป็นของตนเองต่อไป

“โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีโค-กระบือไว้ใช้แรงงาน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้รับสนองพระราชดำริให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ถือได้ว่าก่อเกิดประโยชน์ เป็นคุณูปการแก่เกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง และยังเป็นที่น่ายินดีที่มีการบูรณาการร่วมกันในพื้นที่อย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกร และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และยังมีการต่อยอดการใช้ประโยชน์ เช่น การใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยในไร่นา การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และประการสำคัญ ยังได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นการสนองแนวพระราชดำริด้านการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงขอให้เกษตรกรที่จะได้รับมอบ โค-กระบือในครั้งนี้ เลี้ยงดูแลโค-กระบือเป็นอย่างดี เสมือนเป็นสมาชิกในครัวเรือน และปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริอย่างเคร่งครัด” ดร.เฉลิมชัย กล่าว