เช็ก ประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าผลไม้จากสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. ๒๕๖๖

ประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลไม้จากสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. ๒๕๖๖ ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีเนื้อหาดังนี้

โดยที่เป็นการสมควรประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลไม้จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้สอดคล้องกับพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๒) และมาตรา ๑- แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช จึงออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าผลไม้จากสาธารณรัฐประชาชนจีนไว้ ดังต่อไปนี้

market 2092381 960 720 1
เงื่อนไขการนำเข้าผลไม้จากจีน

ข้อ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลไม้จากสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. ๒๕๖๖”

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในประกาศนี้

“ผู้นำเข้า” หมายความว่า ผู้นำเข้าผลไม้จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังราชอาณาจักรไทย

“ผลไม้” หมายความว่า ผลสดของผลไม้ตามบัญชีรายชื่อที่ประกาศในเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร(www.doa.go.th)

ข้อ ๔ ใบอนุญาตนำเข้า

(๑) ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตร

(๒) การยื่นคำขอใบอนุญาตนำเข้าให้ยื่นผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมวิชาการเกษตร

ข้อ ๕ วิธีการขนส่ง

ต้องส่งผลไม้จากสาธารณรัฐประชาชนจีนไปยังราชอาณาจักรไทย ในลักษณะสินค้าขนส่งดังต่อไปนี้

(๑) ทางบกผ่านประเทศที่สามให้เป็นไปตามจุดนำเข้าและจุดส่งออกที่ประกาศในเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร (www.doa.go.th)

(๒) ทางน้ำ

(๓) ทางอากาศ

ข้อ ๖ ผู้นำเข้าผลไม้จากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทยต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตรว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัดและสิ่งไม่ต้องห้าม


ข้อ ๗ ผลไม้ต้องปลอดจากศัตรูพืชกักกันของราชอาณาจักรไทย และต้องปราศจากแมลงที่มีชีวิต ดิน ทราย และไม่มีการปะปนของชิ้นส่วนพืช เช่น ใบ กิ่ง เมล็ดวัชพืช เศษซากพืช เป็นต้น หรือสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพนำพาศัตรูพืชกักกันได้

ข้อ ๘ ข้อกำหนดสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุ

(๑) สวนผลไม้

(ก) กรณีผลไม้ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนกับกรมวิชาการเกษตร ผลไม้นั้นผลิตจากสวนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือหน่วยงานที่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนให้การรับรอง และได้รับการขึ้นทะเบียนสวนจากกรมวิชาการเกษตร

(ข) กรณีผลไม้ที่ไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนกับกรมวิชาการเกษตรผลไม้นั้นผลิตจากสวนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือหน่วยงานที่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนให้การรับรอง

(๒) โรงคัดบรรจุ

(ก) กรณีผลไม้ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุกับกรมวิชาการเกษตร ผลไม้นั้นได้รับการจัดการจากโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือหน่วยงานสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนให้การรับรอง และได้รับการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุจากกรมวิชาการเกษตร

(ข) กรณีผลไม้ที่ไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุกับกรมวิชาการเกษตรผลไม้นั้นได้รับการจัดการจากโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือหน่วยงานที่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนให้การรับรอง

ทั้งนี้ บัญชีรายชื่อของผลไม้ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนกับกรมวิชาการเกษตรแล้ว ให้เป็นไปตามรายการที่ประกาศในเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร (www.doa.go.th)

ข้อ ๙ ข้อกำหนดสำหรับบรรจุภัณฑ์และฉลาก

(๑) บรรจุภัณฑ์ต้องใหม่และสะอาด หากมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไม้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืชที่เกี่ยวข้อง

(๒) ฉลากแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์ ต้องมีความคงทน กันน้ำได้และอยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน ง่ายต่อการตรวจสอบต้องมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย ดังต่อไปนี้

(ก) ชื่อบริษัทส่งออก (Name of the exporting company)

(ข) ชื่อผลไม้ (Fruit type)

(ค) เลขทะเบียนสวน (Orchard Register Number)

(ง) เลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ (Packing House Register Number)

(จ) วันบรรจุ (Packing date)


(ฉ) ระบุข้อความ “Export to the Kingdom of Thailand”

(ช) ระบุข้อความ “Product of the People’s Republic of China”

(๓) ผลไม้ขนส่งทางบกหรือทางน้ำ ต้องอยู่ในตู้ขนส่งผลไม้ที่ปิดมิดชิด หรือตู้ควบคุมอุณหภูมิ
ระหว่างการขนส่ง ห้ามเปิดตู้ระหว่างการขนส่ง

(๔) ผลไม้ขนส่งทางอากาศ ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทหรือสามารถป้องกันการเล็ดลอด
ของศัตรูพืชได้

(๕) การนำเข้าทางบกผ่านประเทศที่สาม ต้องปิดตราผนึกตู้ขนส่งผลไม้ของสำนักงานศุลกากร
แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และอยู่ในสภาพสมบูรณ์จนถึงด่านนำเข้าของราชอาณาจักรไทย

ข้อ ๑๐ การรับรองสุขอนามัยพืช

(๑) ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชซึ่งออกให้โดยสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

(๒)กรณีนำเข้าทางบกผ่านประเทศที่สาม ใบรับรองสุขอนามัยพืชมีผลบังคับใช้ ๑๐ วันนับจากวันที่ออกใบรับรองสุขอนามัยพืช

(๓) ต้องระบุข้อความในใบรับรองสุขอนามัยพืช ดังต่อไปนี้

(ก) การขนส่งทางบกผ่านประเทศที่สาม

๑) กรณีการนำเข้าผลไม้ ได้แก่ แอปเปีล แพร์ องุ่น พุทรา และผลไม้สกุลซิตรัส

(Citrus spp). ให้ระบุข้อความเพิ่มเติม ดังนี้

“This fruits is in compliance with the Protocol on Inspection and Quarantine Conditions of Fruits to be exported from China to Thailand and the Protocol on the Inspection and Quarantine Requirements for Exportation and Importation of Fruits between China and Thailand through Territories of the Third Countries.”

และระบุวันที่ตรวจ หมายเลขตู้ขนส่งผลไม้ หมายเลขผนึกตู้และหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ

๒) กรณีการนำเข้าผลไม้ชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากผลไม้ข้างต้น ให้ระบุข้อความ ดังนี้

“This fruits is in compliance with the Protocol on the Inspection and Quarantine Requirements for Exportation and Importation of Fruits between China and Thailand through Territories of the Third Countries.”

และระบุวันที่ตรวจ หมายเลขตู้ขนส่งผลไม้ และหมายเลขผนึกตู้

ทั้งนี้ กรณีผลไม้ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุกับกรมวิชาการเกษตรแล้ว ให้ระบุหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุเพิ่มด้วย

(ข) การขนส่งทางน้ำและทางอากาศ

๑) กรณีการนำเข้าผลไม้ ได้แก่ แอปเปิ้ล แพร์ องุ่น พุทรา และผลไม้สกุลซิตรัส (Citrus spp.) ให้ระบุข้อความ ดังนี้


“This fruits is in compliance with the Protocol on Inspection and Quarantine Conditions of Fruits to be exported from China to Thailand”

๒) กรณีการนำเข้าผลไม้อื่น ๆ นอกเหนือจากผลไม้ข้างต้น ให้ระบุเฉพาะวันที่ตรวจ

ข้อ ๑๑ การตรวจนำเข้า

(๑) เมื่อผลไม้มาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย การตรวจนำเข้าจะดำเนินการหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดที่แนบมาพร้อมกับสินค้า

(๒) พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างผลไม้ตามกระบวนการที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการและตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีศัตรูพืชหรือไม่ ถ้าตรวจพบศัตรูพืชมีชีวิตจะส่งตัวอย่างศัตรูพืชไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อจำแนกชนิดและต้องกักผลไม้ไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการ

(๓) การตรวจนำเข้าและการตรวจพบศัตรูพืชกักกันในสินค้าที่นำเข้า ต้องดำเนินการตามที่ระบุไว้ในพิธีสารที่เกี่ยวข้อง

(๔) ถ้าตรวจพบศัตรูพืช สิ่งมีชีวิตอื่นใด หรือสิ่งปนเปื้อน ที่มีศักยภาพก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขอนามัยพืชต่อราชอาณาจักรไทย ต้องจัดการศัตรูพืช สิ่งมีชีวิตอื่นใด หรือสิ่งปนเปื้อนเหล่านั้น ด้วยวิธีการที่เหมาะสมหรือการอื่น (ถ้ามี) แล้วแต่กรณี หรือส่งสินค้านั้นออกไปนอกราชอาณาจักรหรือทำลาย โดยเจ้าของเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว

(๕) กรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งผลไม้นั้นออกไปนอกราชอาณาจักรหรือทำลาย โดยเจ้าของเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว ถ้าพบกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(ก)สินค้าที่ส่งมอบไม่สอดคล้องกับที่ระบุไว้ในใบรับรองสุขอนามัยพืช

(ข) การปิดผนึกตู้สินค้าไม่สมบูรณ์

(ค) มีการปลอมปนผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอื่น

(ง) ตู้ขนส่งผลไม้ถูกเปิดหรือสับเปลี่ยนระหว่างการขนส่งผ่านประเทศที่สาม

ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร