เกษตรฯเร่งแก้ความแออัดด่านฯหนองคาย รองรับส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตร 

รมช.มนัญญา’ ลุยแก้ปัญหาความแออัดด่านตรวจพืชหนองคาย รองรับการขยายตัวส่งออก-นำเข้า สินค้าเกษตร

นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนด่านศุลกากรหนองคาย พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรนาย ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมด่านพรมแดน (ขาออก) ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อ.เมือง จ.หนองคาย 

โดยที่ประชุมได้รายงานการสถานการณ์การนำเข้า-ส่งออก สินค้าของด่านศุลกากรหนองคาย และด่านตรวจพืชหนองคาย และหารือถึงปัญหาความแออัดของรถตู้คอนเทนเนอร์หน้าด่าน จากนั้นตรวจเยี่ยมขั้นตอนการตรวจปล่อยทุเรียนส่งออกไปยังประเทศจีน ผ่านทางรถไฟสาย ไทย-ลาว-จีน ณ ลานตรวจสินค้า ด่านศุลกากรหนองคาย

A9423453 706C 4900 93D6 611C213B31C2

รมช.มนัญญา กล่าวว่า ตามที่ได้รับแจ้งว่าเกิดปัญหาความแออัดของรถตู้คอนเทนเนอร์ขนสินค้าที่หน้าด่านศุลกากรหนองคาย ทำให้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเกิดความล่าช้า โดยในเรื่องนี้ตนได้มีความเป็นห่วงและจะเร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด จึงได้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และพบว่า ปัญหาความแออัดนั้นเกิดจากสถานที่ด่านซึ่งมีพื้นที่จำกัด เพียง 40 ไร่ จึงทำให้ไม่มีพื้นที่จอดคอย ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้ทำหนังสือของบปรับปรุงขยายพื้นที่ 

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมบูรณาการร่วมกับจังหวัด และจะช่วยประสานส่วนกลาง เพื่อเร่งปรับปรุงพื้นที่ รองรับการขยายตัวสินค้าส่งออก-นำเข้าในด่านแห่งนี้ และรองรับการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ซึ่งจะต้องเตรียมการและเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนตัวคิดว่าควรจะต้องรวดเร็วมากกว่านี้ ไม่รอจนกว่ารถไฟเชื่อมต่อกันแล้วเสร็จแล้วค่อยสร้างสถานที่รองรับ เนื่องจากจุดนี้มีสินค้านำเข้า-ส่งออก ที่หลากหลายไม่เพียงแต่ทุเรียน ในอนาคตหากรถไฟเชื่อมกันเสร็จจะเป็นอีกด่านหนึ่งที่รองรับการส่งออกได้มากขึ้น และเป็นหารเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้า 

12A4E9E3 B38F 4E45 9D4A 935817801597

ส่วนในขั้นตอนของการตรวจปล่อยทุเรียนส่งออกไปยังประเทศจีน ไม่มีปัญหาความล่าช้า แต่เร็วขึ้นมาก เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการโดยมีห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ สามารถตรวจและเคลื่อนย้าย ทำให้ย่นระยะเวลาลง รวมถึงนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการปฎิบัติงาน เช่น ขอใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์(e-Phyto) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ โดยต้องมีการตรวจสอบข้อมูลกับระบบ GAP online ซึ่งเปิดใช้งานแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดยจะนำเรื่องที่หารือกันในวันนี้ไปนำเรียนให้นายกรัฐมนตรีได้ทราบด้วย

68EEA708 CE45 4572 8AE0 2623220FB0C5

ด่านตรวจพืชหนองคายได้เปิดให้บริการ เพื่อให้เป็นด่านนำเข้าและส่งออกผลไม้ระหว่างไทยและจีนตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สาม สู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีช่องทางส่งออกเพิ่มขึ้น และเพื่อให้การดำเนินการส่งออกมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้สั่งการให้ด่านตรวจพืชหนองคาย อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขอใบรับรองสุขอนามัยพืช หรือใบแทนกรณีต้องแก้ไข ตลอดจนให้นายตรวจพืชปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า สวมแหล่งกำเนิดสินค้า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคู่มือมาตรฐานการปฎิบัติงาน (SOP) ให้ชัดเจน ครอบคลุมทุกขั้นตอน และปรับปรุง แก้ไขให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงให้ครอบคลุมมาตรการป้องกันแพร่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 โดยมุ่งเน้นให้สินค้าเกษตรและอาหารมีความปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค ที่จะส่งผลกระทบทางการค้าระหว่างกันให้น้อยที่สุด  

442EE5C7 C88C 44ED 83A0 DDF5C7EAC5D7

สำหรับด่านตรวจพืชหนองคาย ก่อนที่ยังไม่มีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว–จีน จะมีการใช้รถบรรทุกส่งออกไปยังประเทศสปป.ลาว เพียงประเทศเดียว ซึ่งปริมาณการส่งออกของปี 2564 มีปริมาณ47,644.36 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งปี 664.62 ล้านบาท สินค้าเกษตรที่ส่งออก ได้แก่ กากถั่วเหลืองปลายข้าว กากปาล์ม และไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีน อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน โดยผ่านเส้นทางรถไฟดังกล่าว มีปริมาณการส่งออกถึง 2,611.88 ตัน คิดเป็นมูลค่า 424.81 ล้านบาทได้แก่ ทุเรียน มังคุด และมะพร้าว ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 63.92 ของการส่งออกของไตรมาสแรกของการส่งออกเมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกทั้งปี 2564  

สำหรับด่านนำเข้า-ส่งออกทางบกของไทย ได้แก่ 1. เชียงของ 2. นครพนม 3. มุกดาหาร 4. บ้านผักกาด 5. บึงกาฬ และ 6. หนองคาย ส่วนด่านนำเข้า-ส่งออกของจีน ได้แก่ 1.โหว่อี้กวน 2. โม่ฮาน 3. ตงชิน 4. ด่านรถไฟผิงเสียง 5. ด่านรถไฟโม่ฮาน 6. เหอโขว่ 7. ด่านรถไฟเหอโขว่ 8. หลงปัง 9.เทียนเป่า และ 10 สุยโขว่ 

72688FE1 6747 4985 A79B 0156343FDBB6

โอกาสนี้ รมช.เกษตรฯ เดินทางไปยังสำนักงานด่านตรวจพืชหนองคาย ตรวจติดตามโครงสร้างพื้นฐานอาทิ อาคารกักกันพืช เตาเผาทำลายสินค้าตัวอย่าง เพื่อจัดเตรียมความพร้อมในการตรวจรับรองปริมาณงานในอนาคต ในการให้บริการตรวจปล่อยสินค้าพืช ผลผลิตทางการเกษตร เพื่อการนำเข้า นำผ่าน และส่งออก ตลอดจนตรวจเยี่ยมด่านกักกันสัตว์หนองคาย และศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 2 (หนองคาย) โดยได้เน้นย้ำให้รักษาคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนการส่งออก