กรมทะเลชายฝั่ง ออกสำรวจพบการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่

วันที่ 1-5 มีนาคม พ.ศ. 2566 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ออกปฏิบัติงานสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยวิธีการบินสำรวจ (Aerial Survey) โดยใช้เครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect ร่วมกับนักบินอาสาสมัคร นาย Eduardo Angelo Loigorri และวิธีการสำรวจทางเรือโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV-drone) ณ บริเวณเกาะปู เกาะศรีบอยา และหมู่เกาะใกล้เคียง จังหวัดกระบี่

334756885 1387559128687469 6135764893152622666 n
สัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่

ผลการสำรวจโดยประมาณในเบื้องต้นพบพะยูน 22 ตัว (พะยูนคู่แม่-ลูก จำนวน 3 คู่) และเต่าทะเล 74 ตัว ผลการตรวจสุขภาพประเมินสุขภาพจากการสังเกตด้วยสายตา พบว่าพะยูนแสดงพฤติกรรมว่ายน้ำหาอาหารบนแนวหญ้าทะเล และพฤติกรรมการผสมพันธุ์

334741988 535492168725860 8180385460962110422 n
สัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่

นอกจากนี้ ยังพบพะยูนคู่แม่-ลูก ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์เพศของตัวสัตว์ รวมถึงเต่าทะเล สุขภาพโดยรวมไม่พบพฤติกรรมที่แสดงความผิดปกติ ส่วนข้อมูลและภาพถ่ายจากการสำรวจครั้งนี้ จะใช้คำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของสัตว์ทะเลหายากในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ “พะยูน”เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่ในทะเล เชื่อว่าพะยูนเคยอาศัยหากินอยู่บนบก และมีบรรพบุรุษที่ใกล้เคียงกับบรรพบุรุษของช้างเมื่อราว 55 ล้านปีมาแล้ว สายพันธุ์ของพะยูนได้มีวิวัฒนาการลงไปอยู่ในน้ำและไม่กลับขึ้นมาอยู่บนบกอีกเลย เช่นเดียวกับพวกโลมาและปลาวาฬ

พะยูน (Dugong dugon) มีลำตัวรูปกระสวยคล้ายโลมา ลำตัวมีสีเทาอมชมพูหรือน้ำตาลเทา สีของส่วนท้องอ่อนกว่า พะยูนมีขนสั้น ๆ ประปรายตลอดลำตัวและมีขนเส้นใหญ่อยู่อย่างหนาแน่นบริเวณปาก มีตาและหูขนาดเล็กอย่างละคู่ ส่วนของหูเป็นรูเปิดเล็ก ๆ ไม่มีใบหู มีรูจมูกอยู่ชิดกันหนึ่งคู่ รูจมูกมีลิ้นปิด-เปิด พะยูนหายใจทุก 1-2 นาที มีครีบด้านหน้าหนึ่งคู่อยู่สองข้างของลำตัวและมีติ่งนมอยู่ด้านหลังของฐานครีบ ครีบทั้งสองเปลี่ยนแปลงมาจากขาคู่หน้า ภายในครีบประกอบด้วยนิ้ว 5 นิ้ว ปกติพะยูนว่ายน้ำช้าด้วยความเร็ว 1.8-2.2 กิโลเมตร/ชั่วโมง พะยูนมีกระดูกที่มีโครงสร้างแน่นและหนักซึ่งเหมาะกับวิถีชีวิตของพะยูนที่อาศัยหากินอยู่ที่พื้นพะยูนไม่มีอาวุธป้องกันตัว มีเพียงลำตัวที่ใหญ่ มีหนังหนาซึ่งอาจป้องกันอันตรายจากการกัดหรือทำร้ายจากสัตว์อื่นเช่น ฉลาม เมื่อมีบาดแผลเลือดแข็งตัวได้เร็วมาก ส่วนลูกอ่อนจะอยู่กับแม่และอาศัยตัวแม่เป็นโล่กำบังที่ดี

ชื่อเรียกพะยูนมีหลายชื่อด้วยกัน คือ หมูน้ำ หมูดุด ดูหยง เงือก วัวทะเล และดูกอง “พะยูน หรือปลาพะยูน” เป็นชื่อที่นิยมใช้ทั่วไปในประเทศไทย (บางแห่งอาจเขียนเป็น “พะยูน หรือ พยูร”) ส่วนชาวปักษ์ใต้นิยมเรียกพะยูนว่า “ดูหยง หรือ ตูหยง” ซึ่งมาจากภาษามาเลเซียที่ใช้เรียกพะยูน (Dugong, sea pig หรือหมูทะเล) ในภาษาเขียนบ้านเราในบางแห่งอาจเพี้ยนไปเป็น “ดุยง ดุหยง ตุยง หรือตุหยง” และชาวใต้ยังเรียกพะยูนอีกชื่อหนึ่งว่า “หมูน้ำ” ซึ่งอาจมาจากลักษณะของเนื้อพะยูนที่มีสีสันและรสชาติคล้ายเนื้อหมู

อีกนัยหนึ่งอาจมาจากรูปร่างที่อ้วนพร้อมทั้งมีขนตามลำตัวและลักษณะการกินอาหารที่คล้ายหมูก็ได้ สมัยก่อนพบพะยูนมากในทะเลไทยทั้งสองฝั่ง และคนไทยน่าจะมีความผูกพันกับพะยูนอย่างมากมาช้านานแล้ว อาจจะเป็นเพราะทั้งความน่ารักน่าสงสารของพะยูน การที่พะยูนเป็นสัตว์มีรูปร่างพิเศษ หรือมีเนื้อที่มีรสชาดดี รวมทั้งความเชื่อต่าง ๆ ที่มีเกี่ยวกับพะยูน หลักฐานความผูกพันของคนไทยกับพะยูน คือการนำชื่อที่ใช้เรียกพะยูนไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเล ได้แก่ คำว่า “พะยูน หมูดุด ตุหยง ดุหยง ตุยง” ชื่อสถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะถูกเรียกต่อ ๆ กันมานับร้อยปีแล้ว และในประเทศไทยคงไม่มีชื่อสัตว์ทะเลชนิดอื่นใดที่ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่มากเท่าชื่อพะยูน และยังไม่พบรายงานจากที่อื่นที่กล่าวถึงการนำชื่อพะยูนไปตั้งเป็นชื่อสถานที่