กรมวิชาการเกษตร หารือ NASDA สหรัฐอเมริกา การส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรไทย-สหรัฐ ความร่วมมือและนวัตกรรมทางการเกษตรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร และ การส่งออกผลไม้สด
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้การต้อนรับ นายฮิวจ์ เวทเธอร์ส (Mr. Hugh Weathers) Commissioner, South Carolina Department of Agriculture National Association of State Department of Agriculture (NASDA) พร้อมคณะผู้แทนจาก NASDA และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ หารือยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี และขยายความร่วมมือทางการค้าสินค้าเกษตรและการลงทุนภาคการเกษตร
โดยประเด็นหารือที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรไทย-สหรัฐ ความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร และ การส่งออกผลไม้สด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการภายใต้ นโยบายการเกษตรและอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรียช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนมุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบาย 3S(Standard – Safety – Sustainability) เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร ความมั่นคงและมั่งคั่งของภาคเกษตรและอาหาร และความยั่งยืนของภาคการเกษตร ขอให้ประเทศสหรัฐอเมริกา มั่นใจว่า สินค้าเกษตรและอาหารของไทย ผลิตด้วยความปลอดภัยทั้งระบบ เพื่อผู้บริโภคภายในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
กรมวิชาการเกษตร ยังให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร โดยการทำMOU ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ก่อให้เกิดการสนับสนุนทั้งด้านการพัฒนา และผลักดันการจัดการคาร์บอนเครดิต
รวมทั้งเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้อย่างยั่งยืน มีการสร้างการสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ในพืชเศรษฐกิจสำคัญ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสอันดีที่กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานภาคการเกษตรของสหรัฐฯ จะมีความร่วมมือกันในด้าน smart agriculture ด้าน climate change และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรโดยสหรัฐอเมริกามีองค์ความรู้และเทคโนโลยีในเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากมีผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ มาถ่ายทอดเทคโนโลยี ก็จะนำไปสู่การพัฒนาการวิจัยด้านการเกษตรของไทยต่อไป
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด (fresh fruit) ของไทย ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ สับปะรด และแก้วมังกร โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออก
และล่าสุดคือ ส้มโอ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service ในการส่ง inspector จากสหรัฐฯ มายังประเทศไทยเพื่อจัดทำ dose mapping สำหรับการฉายรังสีส้มโอเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ
โดยปัจจุบันสหรัฐฯ ได้กำหนดให้มีการฉายรังสีผลไม้ไทยเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในปริมาณที่ไม่ต่ำกว่า 400 เกรย์ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของผลไม้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจึงประสงค์ขอให้ฝ่ายสหรัฐฯ พิจารณาการลดปริมาณรังสีสำหรับการฉายรังสีผลไม้เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ โดยกรมวิชาการเกษตรยินดีส่งข้อมูลทางวิชาการ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป