เริ่มแล้ว! ฤดูกาลผลไม้ตะวันออก ปลัดเกษตรฯชูทุเรียนอัตลักษณ์ไทยหนึ่งเดียวในโลก ย้ำทูตเกษตรฯประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น

ปลัดเกษตรฯ ลุยเมืองจันท์ เปิดฤดูกาลผลไม้ตะวันออก เชิญชวนเที่ยวสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชูทุเรียนอัตลักษณ์ไทยหนึ่งเดียวในโลก ย้ำทูตเกษตรฯประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น ร่วมมือรักษาคุณภาพทุเรียนไทย

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2566 ณ สวนรินรดี ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จ.จันทบุรี 

โดยมี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายชนวัฒน์ สิทธิธูรณ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี นายปัญญา ประดิษฐสาร เกษตรจังหวัดจันทบุรี นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมว่า ภาพรวมของผลไม้ในภาคตะวันออกมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี 

ตลอดจนสถานการณ์ปัจจุบันมีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ทำให้ภาคเกษตรต้องมีการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ สร้างความน่าเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค อีกทั้งต้องมีการปรับตัวโดยการผสมผสานการท่องเที่ยวเกษตรลงไปในสวนไม้ผล เพื่อดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยว และยังคงเน้นคุณภาพมาตรฐานและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของผลไม้ไทย เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น 

สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่มุ่งมั่นส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และชุมชนในพื้นที่จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรหรือการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าผลผลิตสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร

C93E0582 DCDC 474F AB0B 7BEACB501645

ปลัดเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยังได้ตรวจติดตามงานตามนโยบายการควบคุมคุณภาพทุเรียนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ตั้งแต่ 

1. มาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตที่แหล่งผลิต (สวน) 

2. มาตรการการขึ้นทะเบียนนักคัด นักตัดทุเรียน 

และ 3. มาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดส่งออก (ตรวจก่อนปิดตู้ส่งออก) 

โดยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกับทางจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด โดยเพิ่มความเข้มข้น ด้วยการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ กรมประมง ฯลฯ เพื่อร่วมกันตรวจสอบคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุผลไม้ 

D28E1763 6CD2 4890 B041 AC672830C748

นอกจากนี้ ยังได้ฝากไปยังผู้ประกอบการให้ช่วยกันดูแลเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นลำไย รวมไปถึงที่มันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีโอกาสทางการค้าสูง เนื่องจากจีนกำลังมีความต้องการเพิ่มขึ้นและขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำงานและดูแลพี่น้องเกษตรกรของไทย

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ทูตเกษตรเน้นสร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ ‘ทุเรียนไทยทุเรียนคุณภาพ’ ในประเทศจีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค 

โดยมุ่งเน้น 1. คุณภาพ 2. ความปลอดภัย และ 3. อัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนชาติใด เนื่องจากทุเรียนไทยแต่ละจังหวัดมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน รสชาติอร่อย เพราะมีดินที่อุดมสมบูรณ์ จึงขอฝากให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ร่วมกันรักษาคุณภาพมาตรฐานของทุเรียนไทย ไม่ตัดทุเรียนอ่อน และขอรับประกันว่า ในฐานะปลัดกระทรวงเกษตรฯ จะปกป้องเกษตรกร ไม่ให้ใครมาซ้ำเติมหรือเอาเปรียบ

2FEA529A BF4A 4016 A64E 162D20985629

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานการณ์ไม้ผลภาคตะวันออกในภาพรวม ปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2566) รายงานว่า ผลผลิตไม้ผลทุกชนิดมีปริมาณลดลง ยกเว้นทุเรียนที่มีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นทั้ง 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ จังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง เนื่องจากมีเนื้อที่ให้ผลผลิตทุเรียนในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 4.85 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เกษตรกรผู้ปลูกมังคุด เงาะ และลองกอง ตัดสินใจโค่นต้นทิ้งและปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกทุเรียนแทนจากปัจจัยราคาทุเรียนที่ดีอย่างต่อเนื่องหลายปีประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกชุกต่อเนื่อง รวมทั้งเกษตรกรยังมีการบำรุงดูแลทุเรียนและไม้ผลอื่นที่ให้ราคาดีเป็นอย่างดี

สำหรับข้อมูลพยากรณ์สถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2566 ทุเรียน คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิต จำนวน756,465 ตัน เพิ่มขึ้น 24,135 ตัน หรือร้อยละ 3.30 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2565 และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุด ในเดือนเมษายน 2566 

โดยได้มีการกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนภาคตะวันออก ปี 2566 ดังนี้

1) การประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนตามสายพันธุ์ คือ ทุเรียนพันธุ์กระดุมและพวงมณี ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 ทุเรียนพันธุ์ชะนี ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 และทุเรียนพันธุ์ หมอนทอง ในวันที่ 15 เมษายน2566 

และ 2) มาตรการควบคุมและป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ด้วยการกำกับการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์เนื้อในน้ำหนักแห้ง โดยค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนพันธุ์ชะนีและพวงมณีไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง และพันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง ซึ่งหากเจอเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน)

มังคุด คาดการณ์จะมีผลผลิตจำนวน 184,632 ตัน ลดลง 3,921 ตัน หรือร้อยละ -2.08 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2565 และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือนเมษายน 2566 

เงาะ คาดการณ์จะมีผลผลิตในปี 2566 จำนวน 102,292 ตัน ลดลง 2,227 ตัน หรือร้อย ละ -2.41 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2565 และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือนพฤษภาคม 2566 

ส่วนลองกอง คาดการณ์จะมีผลผลิตในปี 2566 จำนวน 202,204 ตัน ลดลง 14,216 ตัน หรือร้อยละ -6.57 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2565 และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือน กรกฎาคม 2566

โอกาสนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ตรวจติดตามสถานการณ์ด้านการตลาดส่งออกทุเรียน ตลอดจน ขั้นตอนการรวบรวม คัดแยก ตรวจสอบความปลอดภัยทางสุขอนามัย ก่อนบรรจุทุเรียนเพื่อการส่งออก ณ ล้งหอมหมื่นลี้ โรงคัดบรรจุที่ได้รับมาตรฐาน GMP ตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ จ.จันทบุรี