ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายเน้นหนักด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบสนองการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทยบนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และถ่ายทอดให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำการเกษตร โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายหลัก 15 ด้านในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2566 ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในสวนผลไม้นับเป็นการจัดการน้ำหน่วยย่อยในระดับพื้นที่ ทำให้สวนสามารถผลิตสินค้าไม้ผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากฤดูกาลและสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยการใช้น้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศให้ประสบผลสำเร็จต่อไป
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในสวนไม้ผลเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการผลิตสินค้าไม้ผล เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยหลัก ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งหากพืชอยู่ในสภาวะที่ได้รับน้ำเพียงพอ ปลูกในดินหรือวัสดุปลูกที่มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ และปลูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อพืชชนิดนั้น ๆ พืชก็จะสามารถสังเคราะห์แสงสร้างอาหาร คือ น้ำตาลเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและเก็บสะสมในรูปแป้ง สร้างเป็นผลผลิต ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในไม้ผล ผลผลิตจะออกมาในรูปของผลไม้ ให้มนุษย์ได้เก็บเกี่ยวและบริโภคต่อไป
แต่อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงและรวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อผลผลิตในพืชแทบทุกชนิดโดยเฉพาะในไม้ผล ซึ่งการเสียหายจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมากเนื่องจากต้องใช้เวลาในการปลูกเลี้ยงจนกระทั่งออกผลเป็นเวลาหลายปี
เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในปี 2566 ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะเกิดเอลนีโญ่ (แล้ง) ในช่วงครึ่งปีหลัง และอาจต่อเนื่องยาวนานถึง 4 ปี ดังนั้น
การเตรียมการบริหารจัดการน้ำที่ดีและเหมาะสม ซึ่งจะลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผลได้นั้น คือ ต้องทราบว่าควรให้น้ำแก่พืชเมื่อใด และให้ปริมาณน้ำเท่าใด ซึ่งในทางปฏิบัติ การให้น้ำจะมีปัจจัย 3 ประการที่ต้องคำนึงถึง คือ ดิน น้ำ และพืช เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญเบื้องต้นที่จะนำมากำหนดความถี่และปริมาณน้ำในการให้น้ำแต่ละครั้ง ได้แก่
1. ดิน: ความสามารถในการอุ้มน้ำของดินในเขตรากพืช
2. น้ำ: ปริมาณของน้ำที่ต้องจัดหามาให้แก่พืช
3. พืช: ปริมาณน้ำที่พืชต้องการในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดอายุพืช
ซึ่งขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่จะเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาด ดังนี้จึงขอยกตัวอย่างการให้น้ำที่เหมาะสมกับความต้องการของพืชเศรษฐกิจหลักภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ดังนี้
ทุเรียน
• ทุเรียน(ต้นเล็ก) ต้องการน้ำประมาณ 0.6 เท่าของค่าอัตราการระเหยน้ำ (มิลลิเมตรต่อวัน) คูณด้วยพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม ทุเรียนภาคตะวันออกมีอัตราระเหยน้ำวันละ 3.8-5.7 มิลลิเมตร มีพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม 1 ตารางเมตรเท่ากับเกษตรกรต้องให้น้ำวันละ 2.3-3.4 ลิตรต่อต้น ระบบให้น้ำที่เหมาะสม คือ มินิสปริงเกลอร์
• ระยะออกดอกติดผลเล็ก ให้น้ำระยะก่อนดอกบาน 7-10 วัน จนถึงติดผลในระยะปิ่น ลดการให้น้ำเหลือ70%
• ระยะผลพัฒนา ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
• ถ้าทุเรียนขาดน้ำในระยะการเจริญเติบโตของผลที่อายุ 8-12 สัปดาห์หลังดอกบาน จะทำให้การพัฒนาของผลไม่สมบูรณ์ ผลจะมีรูปทรงบิดเบี้ยวและมีขนาดเล็ก แม้จะให้น้ำเพิ่มในภายหลังก็ไม่ช่วยให้ทรงและขนาดของผลทุเรียนดีขึ้น
มังคุด
• ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอช่วงการเจริญเติบโตทางใบ และงดให้น้ำช่วงปลายฝน ต้นมังคุดทีมีอายุตายอด 9-12 สัปดาห์ และผ่านสภาพแล้ง 20-30 วัน เมื่อแสดงอาการใบตก ปลายใบบิด ก้านใบและกิ่งที่ปลายยอด เริ่มเป็นร่อง ให้กระตุ้นการออกดอก โดยการให้น้ำอย่างเต็มที่
• สำหรับต้นมังคุดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม ประมาณ 6 เมตร
– การให้น้ำครั้งที่ 1 ให้น้ำในปริมาณ 1,000-1,600 ลิตรต่อต้น จากนั้นให้หยุดดูอาการ 7-10 วัน เมื่อพบว่า ก้านใบและกิ่งที่ปลายยอดเริ่มเต่งขึ้นก็ให้น้ำครั้งที่ 2 ในปริมาณครึ่งหนึ่งของครั้งแรก (500-800 ลิตรต่อต้น) หลังจากนั้น 10-14 วัน ตาดอกจะผลิออกมาให้เห็นและควรมีการจัดการน้ำเพื่อควบคุมให้มีปริมาณดอกเพียง ร้อยละ 35-50 ของยอดทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยหลังจากมังคุดออกดอกแล้ว 10-15 เปอร์เซ็นต์ ของตายอดทั้งหมด ควรให้น้ำปริมาณมากถึง 220-280 ลิตรต่อต้น ทุกวัน จนกระทั่งพบว่ายอดที่ยังไม่ออกดอกเริ่มมียอดอ่อนแทนตาดอก จึงค่อยให้น้ำตามปกติ คือ 80-110 ลิตรต่อต้น และจะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้มังคุดมีพัฒนาการที่ดี
เงาะ (ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 5 เมตร)
• ต้นเงาะ ควรได้รับน้ำวันละ 2.2-2.7 มิลลิเมตรต่อต้น หรือ 60-75 ลิตรต่อต้น
• เงาะในแต่ละช่วงต้องการน้ำแตกต่างกัน ถ้าเงาะขาดน้ำ 21-30 วันจะแสดงอาการใบห่อ
• หากต้นเงาะใบห่อช่วงออกดอก ควรให้น้ำ 35 มิลลิเมตร (ถังขนาด 1,000 ลิตร) เพียง 1 ครั้งแล้วหยุด
ลองกอง
• ในปีแรกที่ปลูก ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
• ต้นลองกอง อายุ 2-3 ปี ควรให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
• เมื่อเห็นตาดอกให้น้ำสม่ำเสมอ
• หยุดให้น้ำ 20 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยว
• ลองกองทนสภาพน้ำท่วมขังได้ไม่เกิน 5-7 วัน และทนแล้งได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์
• ช่วงพัฒนาของตาดอกและผลในระยะแรก หากขนาดน้ำในช่วงยืดตาดอก จะทำให้ช่อดอกสั้นกว่าปกติและผลอ่อนหลุดร่วง
• ช่วงการพัฒนาผลในระยะแรก อายุผล 7-10 สัปดาห์ จะทำให้ช่อผลและผลชะงักการเจริญเติบโต
• ช่วงวิกฤตมากคือช่วงผลิตผลกำลังเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง หากมีฝนตกหรือได้รับน้ำอย่างกะทันหันจะทำให้เปลือกผลแตกทั้งต้นหรือทั้งสวน
การเตรียมตัวรับภัยแล้งของชาวสวน
1. เตรียมแหล่งน้ำของตนเอง ปรับปรุงบ่อน้ำที่มีให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาเก็บกักไว้
2. ประมาณการณ์น้ำที่มีและพยายามใช้น้ำอย่างประหยัด คือ ให้น้ำต้นไม้ผลภายในบริเวณรัศมีทรงพุ่มด้วยระบบน้ำหยดหรือหัวเหวี่ยงขนาดเล็ก (ประหยัดน้ำได้มากกว่าการใช้สายยางรดน้ำ) ให้น้ำครั้งน้อย ๆแต่บ่อยครั้ง เปลี่ยนช่วงเวลาการให้น้ำเป็นช่วงกลางคืน เพื่อลดการระเหยน้ำจากการถูกแดดเผา
3. ตัดแต่งกิ่งที่ไม่จำเป็นเพื่อลดการคายน้ำ สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวในช่วงต้นฤดูแล้ง หลังการเก็บผลแล้วควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อลดการระเหยน้ำทางใบ และช่วยให้การออกดอกติดผลในฤดูต่อไปเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
4. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก คลุมโคน ต้นไม้ผลในบริเวณทรงพุ่ม
5. กำจัดวัชพืชตั้งแต่ต้นฤดูแล้งใช้วัสดุคลุมโคนต้นไม้ผล โดยคลุมจากโคนต้นไม้ผลจนถึงแนวรัศมีทรงพุ่ม วัสดุที่ใช้ ได้แก่ ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นจากต้นไม้ผล ใบตองแห้ง ทางมะพร้าว กาบมะพร้าว หญ้าแห้งเป็นต้น ซึ่งวัสดุคลุมดินจะช่วยชะลออัตราการระเหยของน้ำจากผิวดินให้ช้าลง และวัสดุเหล่านี้จะค่อย ๆ ผุผังเป็นอินทรียวัตถุ ทำให้ดินร่วนและมีการอุ้มน้ำดีขึ้น กรณีต้นไม้เล็กควรใช้วัสดุช่วยในการพรางแสง เพื่อลดความเข้มแสง หากต้นยังเล็กจะต้องพรางแสงช่วยด้วย สำหรับไม้ผลบางชนิด เช่น ทุเรียน หากประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในช่วงการติดผล อาจทำให้ต้นโทรมและถึงตายได้ หรือมังคุดที่ติดผลแล้ว หากขาดแคลนน้ำผลจะมีขนาดเล็ก ก้นผลจีบ คุณภาพไม่ดี จะต้องรีบทำการตัดทิ้งให้หมด และหาน้ำจากแหล่งอื่นมารดอย่างประหยัดที่สุด
6. สวนไม้ผลที่อยู่ใกล้ทะเลหรือปากแม่น้ำ หมั่นติดตามสถานการณ์การเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด ลอกเลนตามร่องสวนเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ สำรองน้ำจืดเก็บไว้ใช้หากมีวัชพืช เช่น ผักตบชวา จอก แหน หรือสาหร่าย อยู่ในท้องร่องสวนเป็นจำนวนมาก ควรนำขึ้นมาคลุมบริเวณโคนต้นไม้ผลเพื่อช่วยรักษาความชื้น ปิดประตูระบายน้ำในสวน อุดรูรั่วคันดินเพื่อป้องกันน้ำเค็มหมั่นตรวจสอบระบบส่งน้ำ ควบคุมอย่าให้น้ำรั่วไหล แต่หากน้ำเค็มรุกเข้าสวนแล้ว ให้รีบระบายออกและจัดหาน้ำจืดมาล้างความเค็มออกโดยเร็วเพื่อให้ต้นไม้ผลอยู่รอด
7. กรณีที่ไม่มีระบบน้ำหรือน้ำสำรองไว้ ควรประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ นำน้ำมารดต้นไม้ผลทันทีอย่างน้อย 7 – 10 วันต่อครั้ง เพื่อช่วยยืดอายุต้นไม้ผลมีชีวิตรอดผ่านแล้งไปได้
8. การทำแนวกันไฟรอบสวน ควรกำจัดวัชพืชภายในบริเวณสวนไม้ผลให้โล่งเตียนทันทีหลังหมดสิ้นฤดูฝน เก็บเศษหญ้าแห้ง กิ่งไม้แห้ง และใบไม้แห้ง ออกจากแปลงปลูกเอาไปคลุมดินรอบโคนต้น เพื่อป้องกันไฟไหม้สวน เตรียมน้ำ ทราย และอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ให้พร้อม และเก็บไว้ในที่เฉพาะ สามารถนำมาใช้งานได้ทันที ฝึกซ้อมคนงานเพื่อการดับไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากฤดูแล้งอากาศร้อนจัดและมีใบไม้แห้งมาก มีโอกาสเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
จะเห็นได้ว่า การวางแผนเตรียมการล่วงหน้าสำหรับการเกษตร ด้วยการบริหารจัดการน้ำภายในสวน จะสามารถลดความเสียหายของผลผลิต และลดความสูญเสียอื่นๆในสวนไม้ผลได้ ถึงแม้ว่าจะค่อนข้างยุ่งยาก และต้องลงทุนสูงในช่วงแรก เช่น การวางผังแปลง การวางระบบน้ำ และแหล่งน้ำภายในสวน เป็นต้นแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบริหารจัดการดังกล่าวมีความคุ้มค่าในระยะยาว เพราะ “น้ำ” ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของประสิทธิภาพการผลิตไม้ผลตลอดอายุการผลิตนั่นเอง