เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (24-25 มีนาคม 2566) นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯได้ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และเดินทางไปเยี่ยมจุดตรวจก่อนตัดทุเรียน 2 จุดในพื้นที่อำเภอท่าใหม่ พร้อมทั้งมอบนโยบายการทำงาน เพื่อให้ช่วงฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก ผลผลิตสามารถออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างมีคุณภาพ
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ยังได้ร่วมสังเกตการณ์ ขณะที่มีเกษตรกร นำทุเรียนไปตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ และยังได้เป็นผู้รับลงทะเบียนก่อนตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง พร้อมทั้งนำทุเรียนไปผ่าและหั่นเพื่อทำการตรวจตามตามขั้นตอนด้วยตัวเองอีกด้วย
ระหว่างการลงพื้นที่ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ เข้มงวดในการควบคุมผลผลิตในการส่งออกต่างประเทศ และแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด โดยบูรณาการร่วมกันของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี 3 แห่ง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกร ตามจุดต่างๆ ทุกอำเภอ ซึ่งสถานที่หรือจุดที่ให้บริการตรวจก่อนตัด (ตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน) ซึ่งเกษตรสามารถตรวจได้ทุกจุดบริการ ได้แก่
– สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี
– มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
– มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี
– มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี
– สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ
– สถานที่อื่น ๆ ได้แก่ เทศบาล , อบต. , สหกรณ์การเกษตร , สมาคมฯ ,แปลงใหญ่ หรือตามที่คณะทำงานตรวจก่อนตัดระดับอำเภอกำหนด ทั้งระดับตำบลและหมู่บ้าน
สำหรับสถานการณ์ไม้ผลภาคตะวันออกในภาพรวม ปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2566) พบว่า ผลผลิตไม้ผลทุกชนิดมีปริมาณลดลง ยกเว้นทุเรียนที่มีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นทั้ง 3 จังหวัดภาค ตะวันออก คือ จังหวัดจันทบุรี ตราด และจังหวัดระยอง เนื่องจากมีเนื้อที่ให้ผลผลิตทุเรียนใน ภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 3.57 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เกษตรกรผู้ปลูกมังคุด เงาะ และลองกอง ตัดสินใจโค่นต้นทิ้งและปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกทุเรียนแทน จากปัจจัยราคาทุเรียนที่ดีอย่างต่อเนื่องหลายปี ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกชุกต่อเนื่อง รวมทั้ง เกษตรกรยังมีการบำรุงดูแลทุเรียนและไม้ผลอื่นที่ให้ราคาดีเป็นอย่างดี
สำหรับทุเรียน จังหวัดจันทบุรี คาดการณ์ว่า ปี 2566 จะมีผลผลิต 506,138ตัน เพิ่มขึ้น 9,378 ตัน หรือร้อยละ 1.89 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2565 และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุด ในเดือนเมษายน 2566 โดยจังหวัดจันทบุรีได้มีการกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียน ปี 2566 ดังนี้
1) การประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนตามสายพันธุ์ คือ ทุเรียนพันธุ์กระดุมและพวงมณี ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 ทุเรียนพันธุ์ชะนี ในวันที่ 20มีนาคม 2566 และทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ในวันที่ 15 เมษายน 2566
2) มาตรการควบคุมและป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ด้วยการกำกับการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน โดยค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนพันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์ เนื้อทุเรียนพันธุ์ชะนีและพวงมณี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเจอเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน)
ทั้งนี้ หากเกษตรกรมีความประสงค์จะเก็บเกี่ยวก่อนวันประกาศฯ ต้องนำตัวอย่างผลทุเรียนมาให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในพื้นที่ เช่น กลุ่มแปลงใหญ่ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ทำการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง เพื่อออกใบรับรอง สำหรับนำไปแสดง ณ สถานที่จำหน่าย หรือล้ง/โรงคัดบรรจุ ต่อไป
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งชุดเฉพาะกิจช่วยกันสกัดกั้นทุเรียนอ่อน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการส่งทุเรียนไม่มีคุณภาพออกสู่ตลาดด้วย ซึ่งหากเกษตรกรไม่มีหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนและมีการตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ทั้งในรถบรรทุก ในแผงรับซื้อ และในล้ง ทางจังหวัดจันทบุรี ตราด และจังหวัดระยอง จะใช้มาตรการทั้งทางการปกครองและทางกฎหมาย เพื่อดำเนินการลงโทษกับผู้กระทำผิดต่อไป
สำหรับมังคุด จังหวัดจันทบุรี คาดการณ์จะมีผลผลิตในปี 2566 จำนวน 112,437 ตัน ลดลง 43,401 ตัน หรือร้อยละ 27.85 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี2565 และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือน มิถุนายน 2566
เงาะ จังหวัดจันทบุรี คาดการณ์จะมีผลผลิตในปี 2566 จำนวน 87,123 ตัน ลดลง 12,939 ตัน หรือร้อยละ 12.93 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2565 และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือน มิถุนายน 2566
ส่วนลองกอง จังหวัดจันทบุรี คาดการณ์จะมีผลผลิตในปี 2566 จำนวน 13,257 ตัน ลดลง 744 ตัน หรือร้อยละ 5.31 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2565และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือนกรกฎาคม 2566
ในฤดูกาลผลิต ปี 2566 จังหวัดจันทบุรี ได้รวบรวมสวนที่เปิดให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จำนวน 31 แห่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาทานผลไม้ภายในสวน โดยมีกิจกรรมให้ นักท่องเที่ยวเดินชมสวน เลือกชิมผลไม้สด รสชาติอร่อยจากต้น กับบรรยากาศดีๆ เขียวขจี
สวนผลไม้ ที่ถูกโอบล้อมด้วย ขุนเขา มีกระบวนการผลิตผลไม้ที่ได้มาตรฐาน GAP มีการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในสวน เช่น ระบบน้ำอัจฉริยะ (สั่งการผ่านมือถือ) จึงทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) ของกรมการท่องเที่ยว
ด้านนายปัญญา ประดิษฐสาร เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ภาพรวมของผลไม้มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศมีการเปิดการเดินทาง สภาพเศรษฐกิจ สังคม เดินหน้า ภาคเกษตร มีการพัฒนาสินค้าเกษตร มีการผสมผสานการท่องเที่ยวเกษตรลงไปในสวนไม้ผล เพื่อดึงดูด ความสนใจจากนักท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ละเลยการคุณภาพสินค้าและการบริการเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น
สอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงฯ ในการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพการเกษตร เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และชุมชนในพื้นที่ พร้อมทั้งคำนึงถึงความยั่งยืนของการประกอบอาชีพการเกษตรที่จะยกระดับเป็นผู้ประกอบการ จึงได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรหรือการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อช่วยเพิ่มรายได้และเพิ่มมูลค่าผลผลิต