เตือน! เกษตรกรรับมือพายุฤดูร้อนช่วง 24 –  26 เม.ย.66

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรรับมือพายุฤดูร้อนช่วง 24 –  26 เม.ย.66 เฝ้าระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น พร้อมสั่งการเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรเบื้องต้นและหลังเกิดภัย

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 3 เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน จะมีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 24 – 26 เมษายน 2566  ทำให้บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น 

โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและด้านตะวันออกของภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป 

IMG 2988

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความห่วงใยเกษตรกร จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามภารกิจที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มความสามารถ 

กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอให้เกษตรกรและประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง 

สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วยโดยเฉพาะสวนไม้ผลซึ่งเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี เกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งภัยแล้ง ลมพายุ และน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้ผลไม้ภาคตะวันออกหลายชนิดกำลังออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ส่วนภาคเหนือมีทั้งลำไยและลิ้นจี่ที่ใกล้ออกสู่ตลาด สำหรับภาคตะวันตกมีลิ้นจี่ที่ขณะนี้ออกสู่ตลาดแล้วเช่นกัน

IMG 2987

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำวิธีการดูแลสวนไม้ผลในระยะหลังการเกิดพายุฤดูร้อน ดังนี้ 

1) สวนไม้ผลที่ได้รับผลกระทบจากพายุ สามารถที่จะฟื้นฟูได้โดยทำการตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหัก หรือต้นไม้ที่โค่นล้มออกทันทีที่พื้นดินในบริเวณสวนแห้ง 

2) ขณะที่ดินยังเปียกชื้นอยู่ เกษตรกรไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในสวน เพราะจะทำให้โครงสร้างดินถูกทำลายและอัดแน่นได้ง่าย 

3) กรณีที่มีดินโคลนทับถมเข้ามาในสวน เมื่อดินแห้งให้ขุดหรือปาดเอาดินโคลนที่ทับถมออกจากบริเวณทรงพุ่มให้ลึกถึงระดับดินเดิม เพื่อให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้น และหากต้นไม้เอนลง ให้ใช้เชือกหรือลวดดึงลำต้นให้ตั้งตรง โดยยึดไว้กับหลักหรือไม้ผลต้นอื่น พร้อมตัดแต่งกิ่งออก 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น จากนั้นควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่ไม้ผล และเมื่อดินแห้งเป็นปกติ ควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ซึ่งจะทำให้ราก แตกใหม่ได้ดีขึ้น และควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นด้วย 

4) หากสังเกตเห็นต้นไม้ผลใบเหี่ยวเฉา ควรให้น้ำอย่างน้อย 7-10 วันต่อครั้ง หรือให้น้ำปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช เพื่อช่วยให้ไม้ผลผ่านช่วงแล้งไปได้

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการลงพื้นที่ให้คำแนะนำ และประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเบื้องต้นแล้ว  

สำหรับกรณีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายสิ้นเชิง เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพ.ศ. 2564 คือ เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท 

IMG 2983

ทั้งนี้เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน