อลงกรณ์ มอบกรมประมง เดินหน้าโครงการน้ำมันราคาถูกช่วยประมงพื้นบ้านกว่า 4.8 หมื่นลำ

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อลงกรณ์ พลบุตร มอบกรมประมง เดินหน้าโครงการน้ำมันราคาถูกช่วยประมงพื้นบ้านกว่า 4.8 หมื่นลำ หวัง ครม.เห็นชอบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ 1,007 ลำ วงเงิน 1,806 ล้านบาทโดยเร็ว

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุมกุลาดำ ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Cloud Meetings พร้อมด้วย คณะกรรมการและผู้แทน โดยมี นางสาวสัมพันธ์ ปานจรัตน ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการประมงกรมประมง กรมประมง เป็นฝ่ายเลขานุการ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือและมีมติรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้คำสั่งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ซึ่งประกอบด้วย ผลการดำเนินงานของ 4 คณะอนุกรรมการ และ 2 คณะทำงาน

           

%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99660400006227
อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ

นายอลงกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรชาวประมง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมัน และการสนับสนุนสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง พร้อมทั้งการส่งเสริมตลาดส่งออกสัตว์น้ำ (ปลากะพง) ไปประเทศจีน โดยคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ “ร่าง” โครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน โดยมีเป้าหมายเป็นชาวประมงพื้นบ้านที่ทำการประมงโดยใช้เรือขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ซึ่งจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตใช้เรือจากกรมเจ้าท่า และใช้เครื่องมือทำการประมงถูกต้องตามกฎหมายจำนวน 48,380 ราย วงเงินงบประมาณ 366,733,360 บาท โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 เดือน หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ทั้งนี้ ชาวประมงพื้นบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิรายละ 1 ลำ และได้รับการช่วยเหลือค่าน้ำมันราคา 5 บาทต่อลิตร เป็นเงิน 1,255 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน

           

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง ในระยะที่ 1 ซึ่งได้สิ้นสุดระยะเวลาโครงการแล้ว โดยอนุมัติสินเชื่อรวมจำนวน 2,306 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 1,188.04 ล้านบาท และระยะที่ 2 ผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2565 ถึง 21 เมษายน 2566 มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 608 ราย จำนวนเรือประมง 740 ลำ วงเงินสินเชื่อ 1,128.92 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้แยกตามสินเชื่อ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)  มีผู้ประกอบการเรือประมงต่ำกว่า 60 ตันกรอส และเข้าร่วมโครงการจำนวน 498 ราย จำนวนเรือ 586 ลำ วงเงินสินเชื่อประมาณ 503.54 ล้านบาท และธนาคารออมสิน มีผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป เข้าร่วมโครงการจำนวน 110 ราย จำนวนเรือ 154 ลำ วงเงินสินเชื่อประมาณ 625.38 ล้านบาท

           

นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการส่งเสริมตลาดส่งออกปลากะพงขาวไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฟื้นฟูฯ ได้ประชุมหารือร่วมกับเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เกี่ยวกับการจัดทำพิธีสารการส่งออกผลไม้และสัตว์น้ำไปยังจีน รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงการเปิดตลาด การขึ้นทะเบียนโรงงานการส่งออกปลากะพงขาวไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อจีนยินดีให้เปิดตลาดจะดำเนินการประเมินความเสี่ยง ทำพิธีสารระหว่างสองฝ่ายและขึ้นทะเบียนโรงงาน จึงจะสามารถส่งออกสินค้าได้ ซึ่งกรมประมงอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน

           

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้หารือและมีมติรับทราบผลการดำเนินงานการพัฒนาศักยการประมงไทย ของ 4 คณะอนุกรรมการ และ 2 คณะทำงาน ดังนี้

           

1) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน มีความก้าวหน้าการดำเนินการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติร่างกฎกระทรวง ยกเว้นค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมง และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทาการประมงพื้นบ้าน พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ภายหลังการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของคณะทำงานวิเคราะห์สถานการณ์ตรวจ ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงและแรงงานในภาคประมงได้ข้อยุติ จึงจะดำเนินการเสนอออกกฎกระทรวงฯ ต่อไป

          

2) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์และการประมงนอกน่านน้ำไทย ขออนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบฯ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้กรมประมงขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปี พ.ศ. 2566 วงเงิน 1,806,334,900 บาท และกรมประมงได้มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณ โดยหวังว่า คณะรัฐมนตรีจะให้ความเห็นชอบโครงการนี้โดยเร็วต่อไป

           

3) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รายงานความก้าวหน้า ดังนี้ 3.1) การฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้ได้ผลผลิต 4 แสนตัน ภายในปี 2566 โดยผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยง ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 รวมทั้งสิ้น 54,263.82 ตัน คิดเป็น 13.57% ของเป้าหมายผลผลิตปี 2566 แบ่งเป็น ในระบบการออกหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (APD) ปริมาณ 49,673.57 ตัน จำแนกเป็น กุ้งขาวแวนนาไม 45,323.43 ตัน (91.24%) และกุ้งกุลาดำ 4,350.14 ตัน (8.75%) และนอกระบบ APD ปริมาณ 4,590.25 ตัน 3.2) โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กรมประมงเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2564 – 30 เมษายน 2565 มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องยื่นคำขอสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น จำนวน 120 ราย ในพื้นที่ 36 จังหวัด ประมาณการความต้องการเงินกู้ จำนวน 425.305 ล้านบาท โดยการดำเนินงานร่วมกันของกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กับเจ้าหน้าที่ ธกส. เข้าศึกษาข้อมูลการจำแนกชนิด การคัดเกรด การตีราคา และการเก็บรักษาหนังจระเข้เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

3.3) การตรวจสอบคุณภาพสินค้าปัจจัยการผลิต โดยกลุ่มควบคุมวัตถุอันตรายและการค้าปัจจัยการผลิต ได้รวบรวมรายงานผลการตรวจสอบปัจจัยการผลิตจากสำนักงานประมงจังหวัด และรายงานผลการตรวจสอบของหน่วยงานในสังกัดกองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต

3.4) การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าสัตว์น้ำ กรมประมง ได้ดำเนินการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ให้กับสัตว์น้ำไทยอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นความยั่งยืนและอาหารปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศไทย พร้อมทั้งการจัดวางแผนการดำเนินงานจัดนิทรรศการภายในงานสัตว์น้ำไทย ประจำปี 2566

           

4) คณะอนุกรรมการพัฒนาผลิตผลผลิตภัณฑ์ประมงและการพาณิชย์ รายงานความก้าวหน้า ดังนี้ 4.1) โครงการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ รวมทั้งผู้ประกอบการด้านประมง โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านการแปรรูป ที่มีการจดทะเบียนกับกรมประมง จำนวน 436 องค์กร จำนวนสมาชิก 11,067 ราย (ข้อมูลณ วันที่ 18 เมษายน 2566) โดยกรมประมง ได้ยกระดับและพัฒนาศักยภาพ ให้ความรู้ทางวิชาการ ด้านการจัดการหลังการจับ การแปรรูปสัตว์น้ำ และมาตรฐานการจัดการด้านสุขลักษณะ จำนวนทั้งสิ้น 34 แห่ง ใน 20 จังหวัด 4.2) การออกหนังสือรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน 4.3) โครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน (Thailand Blue Swimming Crab Fishery Improvement Project) และ 4.4) โครงการปรับปรุงและพัฒนาการทำประมงอวนลากในพื้นที่อ่าวไทย (The Gulf of Thailand Trawl Fishery Improvement Project)

           

5) คณะทำงานโครงการ Fisherman’s Village Resort รายงานความก้าวหน้า การขับเคลื่อน 1 จังหวัด 1 โครงการ Fisherman’s Village Resort ดำเนินการขับเคลื่อนผ่านองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ภายใต้โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านประมง (กิจกรรมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการประมง) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นเข้าร่วมดำเนินการ จำนวน 200 ชุมชน โดยในส่วนของกิจกรรมส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวมี 14 ชุมชน

           

6) คณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาการกระจายสินค้าประมงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค รายงานความก้าวหน้า ดังนี้ 6.1) กิจกรรมร้าน Fisherman Shop ปัจจุบันมีการเปิดสาขาทั่วประเทศ 121 สาขา 6.2) โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำระเบียบกรมประมงว่าด้วยการออกตราสัญลักษณ์ประมงธงเขียว พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์มีความสด สะอาดได้มาตรฐาน ปลอดภัย และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ให้กับองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นและผู้ประกอบการด้านการประมง 6.3) การส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าประมงคุณภาพ วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของเกษตรกร ชาวประมงพร้อมส่งเสริมการเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าของหน่วยงานภาครัฐ

           

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ครั้งที่ 2/2566 มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนชาวประมง ผู้แทนผู้ประกอบการประมง ทั้งประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน ประมงนอกน่านน้ำ ภาคอุตสาหกรรมประมง อาทิ ผู้แทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกรมเจ้าท่า ผู้แทนองค์การสะพานปลา ฯลฯ