กระทรวงเกษตรฯปลื้ม ส่งออกทุเรียนไปขายจีน 4.7 แสนตัน ยก’จันทบุรีโมเดล’ ต้นแบบดันทุเรียนภาคใต้

กระทรวงเกษตรฯ เผยผลสำเร็จการขับเคลื่อนคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนภาคตะวันออก ปลื้มส่งออกจีน4.7 แสนตัน ยกจันทบุรีโมเดลเป็นต้นแบบในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมเตรียมนำคณะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานอย่างเข้มข้น

นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังได้รับมอบหมายจาก นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 30 พ.ค66 

โดยมีนายธิติ โลหะปิยะพรรณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายณฤทธิ์บุญชัย ผู้อำนวยการสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (134) และผ่านระบบ Zoom Meeting ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการควบคุมและป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพเพื่อให้ผลผลิตทุเรียนที่จะทำการส่งออกต้องได้คุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกที่กำหนด 

IMG 3924

โดยในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดอาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด และภาคเอกชน ร่วมกันผลักดันการดำเนินงานอย่างเข้มข้น ขอยืนยันว่าทุเรียนไทยเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพปลอดภัย ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออก จึงขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันขับเคลื่อนจนเกิดความสำเร็จขณะนี้ได้รับรายงานว่าทุเรียนภาคตะวันออกมียอดการส่งออกสูงถึง 4.7 แสนตัน มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท 

“หลังจากที่คณะทำงานฯ ได้ติดตามและขับเคลื่อนคุณภาพและมาตรฐานของทุเรียนภาคตะวันออก โดยกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจก่อนตัด – หลังตัด และการตั้งด่านคัดกรอง ตลอดจนการควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกไปจีน ตั้งแต่ 1. การควบคุมคุณภาพที่แหล่งผลิต (สวน) 2. การควบคุมคุณภาพผลผลิตที่ตลาดส่งออก (โรงคัดบรรจุ) และ3. การเพิ่มความเข้มข้นโดยตั้งด่านตรวจคัดกรองเอกสารแหล่งผลิตทุเรียน มือตัด และล้งที่จะนำส่ง ก่อนส่งต่อไปยังตลาดต่างประเทศและในประเทศ ขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งในเดือน มิ.ย. – ต.ค. นี้เป็นช่วงที่ผลผลิตผลไม้ภาคใต้จะเริ่มออกสู่ตลาด 

โดยภาคใต้กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนและวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2566 ในพื้นที่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานีพันธุ์หมอนทอง เป็นวันที่ 10 มิถุนายน 2566 จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมโดยใช้โมเดลของภาคตะวันออกที่ประสบความสำเร็จไปแล้วนั้น มาเป็นต้นแบบดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป และเน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ เข้าใจ ในขั้นตอนและมาตรการต่าง ๆ ซึ่งตนและคณะจะเตรียมลงพื้นที่ติดตามการควบคุมคุณภาพทุเรียนสำหรับส่งออกและบริโภคในประเทศในพื้นที่ภาคใต้เร็ว ๆ นี้” รองปลัดฯ สุรเดช กล่าว

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรรายงานสถานการณ์การส่งออกทุเรียนสดจากประเทศไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน สะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.66 – 25 พ.ค.66 มีการส่งออก 28,755 ชิปเมนต์ ปริมาณ 477,741.80 ตันมูลค่า 62,387.97 ล้านบาท ในส่วนของการส่งออกผลไม้สด รวมส่งออก 52,128 ชิปเมนต์ ปริมาณ911,204.37 ตัน มูลค่า 81,671.07 ล้านบาท

IMG 3667

นอกจากนี้ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์การเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ประมาณการ 782,942 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 612,552.56 ตัน คิดเป็นร้อยละ 78.24 คาดว่าเก็บเกี่ยวครบร้อยเปอร์เซ็นในเดือนมิถุนายน สำหรับราคาทุเรียน เกรด A อยู่ที่ 186.67 บาท/กิโลกรัม ต้นทุนการผลิต13.77 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ผลการดำเนินการตรวจรับรอง GAP DOA Online ได้รับการรับรองทั้งหมด23,222 ราย 25,601 แปลง 247,148.07 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พ.ค.66) ที่ประชุมยังรายงานผลการดำเนินงานชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ชุดปฏิบัติการตรวจก่อนตัด) ภาคตะวันออกทั้ง 3 จังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด มีเกษตรกรมารับบริการรวม 10,760 ราย ตัวอย่างส่งตรวจ 14,446 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ 9,258 ไม่ผ่านเกณฑ์ 5,183 สำหรับผลการดำเนินการสุ่มตรวจความสุกแก่ของทุเรียนในโรงคัดบรรจุ 528 แห่ง สุ่มตรวจทั้งสิ้น 4,998 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ 4,683 (97.7%) 

IMG 3704

ทั้งนี้ จำนวนสวนทุเรียน รวมทั่วประเทศ 74,136 สวน แบ่งเป็น ภาคตะวันออก 29,060 สวน ภาคใต้43,668 สวน และพื้นที่อื่น ๆ 1,408 สวน จำนวนโรงคัดบรรจุทุเรียน ทั่วประเทศ 1,209 แห่ง แบ่งเป็น ภาคตะวันออก 666 แห่ง ภาคใต้ตอนบน 441 แห่ง (ชุมพร 390 นครศรีธรรมราช 42 สุราษฎร์ธานี 8 ประจวบคีรีขันธ์ 1) ภาคใต้ตอนล่าง 12 แห่ง (ยะลา 7 นราธิวาส 2 สงขลา 2 พัทลุง 1) และพื้นที่อื่น ๆ 102 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค.66)

ขณะที่ภาพรวมปริมาณผลผลิตไม้ผลภาคใต้ 14 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง ภูเก็ต สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส (ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง) ปี 2566 เปรียบเทียบกับปี 2565 พบว่า ปี 2566 มีเนื้อที่ยืนต้น 1,139,056 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี2565 ร้อยละ 2.30 เนื้อที่ให้ผล 948,949 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ผลผลิตรวม 895,118 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ77.03 โดยผลผลิตในฤดูจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 66 – ต.ค. 66 และมีปริมาณผลผลิตมากสุดในเดือน ก.ค. 66 

IMG 3367 2

ทุเรียน มีเนื้อที่ยืนต้น 726,369 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 7.27 เนื้อที่ให้ผล 547,225 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.47 ผลผลิตรวม 667,338 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.73 ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลเฉลี่ย 1,219 กก./ไร่ 

มังคุด มีเนื้อที่ยืนต้น 236,408 ไร่ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 2.01 เนื้อที่ให้ผล 227,478 ไร่ ลดลงร้อยละ0.79 ผลผลิตรวม 142,077 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 408.71 ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลเฉลี่ย 625 กก./ไร่ 

เงาะ มีเนื้อที่ยืนต้น 66,098 ไร่ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 6.52 เนื้อที่ให้ผล 64,639 ไร่ ลดลงร้อยละ 6.51 ผลผลิตรวม 52,804 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 95.88 ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลเฉลี่ย 817 กก./ไร่ 

ลองกอง มีเนื้อที่ยืนต้น 110,181 ไร่ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 11.41 เนื้อที่ให้ผล 109,607 ไร่ ลดลงร้อยละ10.72 ผลผลิตรวม 32,899 ตัน ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลเฉลี่ย 300 กก./ไร่ 

IMG 2833