ก.เกษตรฯ-สพฐ. ลงนาม MOU นำความรู้ระบบบัญชีสหกรณ์เข้าสู่โรงเรียน ปลูกฝังนักเรียนมีวินัยการเงินส่งเสริมการออม ตั้งเป้าชั้นประถมฯ 77 จว. ทั่ว ปท.

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นางกนกวรรณ วิลาวัลย์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง บัญชีรับ–จ่ายในครัวเรือนและสหกรณ์นักเรียนให้แก่เด็กและเยาวชน”ระหว่าง กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)กระทรวงศึกษาฯ 


โดยมี นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ณ ห้อง 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
IMG 55284 20220601161939000000
ก.เกษตรฯ-สพฐ. ลงนาม MOU นำระบบบัญชีสหกรณ์ให้นักเรียนเรียนรู้เพื่อปลูกฝังให้มีวินัยการเงิน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลง ฯในวันนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อขยายผลองค์ความรู้ด้านการจัดทำบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้เข้าถึงสถาบันการศึกษาโดยจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง บัญชีรับ–จ่ายในครัวเรือนและสหกรณ์นักเรียนเพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับประถมศึกษา รักการจดบันทึกบัญชี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน รู้จักการใช้บัญชีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างวินัยทางการเงิน รู้จักการออมเงินและการวางแผนทางการเงิน นำไปสู่การลงทุนในอนาคต สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ครอบครัว และชุมชนได้อย่างยั่งยืน 

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ระดับประถมศึกษา และโรงเรียนในสังกัดคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ โดยมีพื้นที่ดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 77 จังหวัด ทั่วประเทศ

ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนให้ตรงจุดนั้น ต้องมีการให้ความรู้ด้านการเงิน สร้างวินัยทางการเงิน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยเริ่มจากเด็กและเยาวชน ซึ่งการจัดทำบัญชีเป็นสิ่งสำคัญ

คำว่า “ระบบบัญชีสหกรณ์” ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของกระทรวงเกษตรฯ เท่านั้น แต่มีความหลากหลาย อยากให้ทุกครัวเรือนโดยเฉพาะ“เด็กนักเรียน” ได้มีความเข้าใจ และสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของตนเองได้ ลดความฟุ่มเฟือย สร้างวินัยทางการเงิน รู้จักการออมเงิน เมื่อเด็กรู้จักคำว่าระบบสหกรณ์แล้ว ก็จะสามารถนำไปต่อยอดช่วยเหลือระบบสหกรณ์ในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดต่อไป รมช.มนัญญา กล่าว


ทั้งนี้จากความร่วมมือดังกล่าวกรมตรวจบัญชีสหกรณ์จะให้การสนับสนุนในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง บัญชีรับ–จ่ายในครัวเรือนและสหกรณ์นักเรียนร่วมกับสถานศึกษา โดยจัดความรู้ให้แก่ครูผู้สอนเพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน 


มีแนวทางดำเนินงานใน 3 ลักษณะ คือ On–site Online และ Onweb ในส่วนการดำเนินงานของ สพฐ. จะให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง บัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือนรวมทั้งการจัดกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียนโดยแจ้งโรงเรียนในสังกัด บูรณาการเข้าสู่กลุ่มสาระการเรียนรู้เพื่อการจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่น้อยกว่าปีการศึกษาละ 3 คาบเรียน ๆละไม่น้อยกว่า 50 นาที และร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในการติดตามประเมินผลเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียงและบัญชีรับ–จ่ายในครัวเรือนต่อไป


กำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2565–2569 เพื่อขยายผลให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 19,795 แห่ง รวมจำนวน 1,023,243 คนทั้งนี้หากโรงเรียนในภาคเอกชนมีความสนใจให้ทางกรมฯ เข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ทางบัญชี สามารถติดต่อสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ในพื้นที่ได้ทุกจังหวัด

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มุ่งเน้นในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีวินัยในการใช้จ่ายเงินและเข้าถึงการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยสอนแนะให้เด็กรู้จักการบันทึกบัญชีรายรับ รายจ่ายส่วนตัว เพื่อเป็นการสร้างนิสัยการจดบันทึกและฝึกหัดการคำนวณตัวเลข ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานด้านบัญชีให้กับเยาวชนไทยได้มีความระมัดระวังการใช้จ่ายเงิน


โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันโดยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้สอนบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือนให้กับเด็กและเยาวชน ตามโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 45,066 ราย และในปีงบประมาณ 2565 มีเป้าหมายดำเนินการ 4,500 ราย 


นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดทำวีดิทัศน์การสอนบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง ในรูปแบบ 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยกลาง ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นใต้ และภาษายาวี เพื่อเป็นสื่อการสอนให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ทั้ง 77 จังหวัดจะเปิดรับสมัครโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไปโดยสามารถสมัครได้ผ่านระบบออนไลน์(Google From) โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนในพื้นที่ทราบต่อไป