ม.มหิดล เสนอทางรอดฝ่า “วิกฤติซ้ำซ้อน” พลังงาน-อาหารแพง 

หลังจากประชากรโลกต้องประสบกับ “อุบัติเหตุชีวิต” จากวิกฤติการแพร่ระบาดจนเกิดการเรียนรู้ “อยู่กับCOVID-19” แต่ก็ต้องมาเผชิญกับ “วิกฤติซ้ำซ้อน” พลังงาน-อาหารแพง ซึ่งส่งผลไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงเสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้มุมมองในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายบริหารจัดการ ถึง “วิกฤติซ้ำซ้อน” พลังงาน-อาหารแพงโลก ที่ส่งผลกระทบสูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมาว่า เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเริ่มวิกฤติ COVID-19 

ซึ่งทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจจำนวนมากต้องหยุดชะงัก แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ก็เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อให้เกิดวิกฤติพลังงาน และวิกฤติอาหารโลกซ้อนขึ้นมาด้วย 

“ภาวะวิกฤติ “เศรษฐกิจไม่ดี คนตกงาน อาหารแพง” ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกัน โดยเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากวิกฤติโรคระบาด ถูกซ้ำเติมด้วยสงครามของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และธัญพืชรายใหญ่ของโลก ทำให้น้ำมันขาดแคลน ราคาพลังงานที่แพงลิ่ว”

“เป็นเหตุให้ต้นทุนการขนส่งและปัจจัยการผลิตราคาสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ราคาอาหารและสินค้าทุกอย่างแพงขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับหลายประเทศห้ามการส่งออกอาหารบางประเภท เกิดเป็นวิกฤติอาหารแพงซ้อนเข้ามา”

“ในขณะที่ประเทศไทยยังมีคนตกงานจำนวนมาก ค่าแรงขึ้นไม่ทัน และธุรกิจก็มีความลำบากในการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จึงเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง” รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงเสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวอธิบายเพิ่มเติม

E9BFA4A8 764C 4EA9 8C46 78888C7FCD57

วิกฤติซ้ำซ้อนนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลก จากเหตุภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด วิถีชีวิตเปลี่ยน ทั้งหมดนี้จึงเป็นสัญญาณว่าทุกภาคส่วนต้องปรับตัว พร้อมๆ กับสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อการตั้งรับต่อไปอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงเสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอให้ภาครัฐมองให้กว้างไกล กำหนดนโยบายและสร้างระบบที่แข็งแกร่งไว้รองรับ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันตามศาสตร์พระราชา “เศรษฐกิจพอเพียง” 

E932C640 D85E 4EF3 BF33 46EE853F69AE

โดยมองเริ่มต้นจากการพัฒนาการเกษตร ซึ่งเป็นหัวใจของชาติ ให้เป็นเกษตรที่หลากหลาย แทนที่จะเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น ผนวกกับการวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมทางการเกษตรที่ลดการพึ่งพิงปุ๋ยเคมี และสารเคมีต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดการนำเข้า และเกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ในส่วนของปัญหาวิกฤติพลังงาน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงเสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอให้รัฐเร่งรัดผลักดันให้มีการใช้พลังงานทางเลือกอย่างจริงจังและแพร่หลาย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ควรค่าแก่การลงทุน เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในพื้นที่โลกที่สามารถใช้พลังงานจากแสงแดดได้อย่างไม่จำกัด 

3B6F9825 C356 419B 91CC D3298EEB7C85

นอกจากจะให้การสนับสนุนในลักษณะของการอุดหนุนทางภาษี ยังควรเน้นการขับเคลื่อนทางนโยบายทั้งระบบ โดยให้สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกับภาคธุรกิจขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา การผลิต และการใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นรูปธรรมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การขนส่ง การผลิต สำนักงาน และครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการใช้พลังงานถูกลงได้ในที่สุด

0CD8422C A9BC 4DD4 A77B 2EC9F09CB370

“ในส่วนของประชาชน แม้พิษเศรษฐกิจจากวิกฤติ COVID-19 จะส่งผลให้คนตกงาน ของแพง และมีความยากลำบากเกิดขึ้นตามมามากมาย การปรับตัวใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ขวนขวายหาความรู้ฝึกฝนทักษะที่หลากหลาย ไม่ย่อท้อต่อวิกฤติที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยและไม่ประมาทกับชีวิต ตลอดจนรักษาสุขภาพกายและใจ”

“ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติใดๆ เชื่อมั่นว่าจะสามารถตั้งรับได้ด้วยความเข้มแข็งและพร้อมฝ่าฟันต่อไปได้อย่างแน่นอน” รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงเสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวให้กำลังใจทิ้งท้าย