อ.เจษฎ์ ชี้”ฝีดาษลิง”ไม่ได้ติดกันง่าย ๆ เพียงแค่โดน “ฉี่กระเด็นใส่”

“อ.เจษฎ์” รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้ นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ว่า ตอนนี้กระแสความกังวลเรื่อง “ฝีดาษลิง” เหมือนจะไปกันใหญ่แล้วนะครับ แน่นอนว่ามันเป็นโรคที่ถ้าเป็นขึ้นมา แล้วจะดูไม่ดีเอาเสียเลยกับการมีฝีตุ่มขึ้นเต็มตัว (เหมือนสมัยที่โรคอีสุกอีใส ยังเคยระบาดในไทย) แต่มันก็ไม่ได้จะอันตรายร้ายแรงมากนัก

S 15851527 1
อาการโรคฝีดาษลิง

โอกาสติดโรคก็ไม่ได้จะสูงมากมายอย่างโควิดนะครับ หลักๆ จะเป็นการใกล้ชิด พูดคุย คลุกคลี ใช้สิ่งของร่วมกัน สัมผัสโดนน้ำคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อแล้วมาเข้าสู่บาดแผลบนตัวเราหรือเข้าไปทางปาก จมูก ตา ให้จำนวนไวรัสเข้าไปเยอะมากเพียงพอที่จะเป็นโรค .. ไม่ใช่ว่าโดนผิวปุ๊บ แล้วติดโรคปั๊บ

ล่าสุดนี่ เห็นคนแชร์คลิปติ๊กต๊อกเตือนเข้าห้องน้ำ แล้วจะติด “โรคฝีดาษลิง” ได้ (ซึ่งจริงๆ ก็ยังไม่มีรายงานการระบาดในไทยนะ) อันเนื่องจากไปสัมผัสโดนฉี่ที่เปื้อนอยู่ตามฝารองนั่งชักโครก ทำเอาตกอกตกใจกันใหญ่ จะไม่กล้าเข้าห้องน้ำสาธารณะกัน กลัวติด “ฝีดาษลิง” (ซึ่งจริงๆ ก็ควรทำความสะอาดอยู่แล้วนะ เวลาจะใช้เนี่ย)

ต้องขอยก“นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ให้สัมภาษณ์เรืองนี้เอาไว้นะครับ ว่า

“ความกังวลใจของคนในการเข้าห้องน้ำสาธารณะ เกรงว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิง อยากให้เข้าใจว่าการปัสสาวะไม่ได้ฟุ้งกระจายมาก จนแพร่เชื้อหรือรับเชื้อได้ แต่อยู่ที่ตุ่มบริเวณอวัยวะเพศ หากแตกออกมาก็สามารถแพร่เชื้อได้จากการสัมผัสโดยตรง ไม่ใช่จากการปัสสาวะจากความกลัวของหลาย ๆ คน

ก่อนหน้านี้นายแพทย์ จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์”โรคฝีดาษลิง” ว่า สำหรับการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เริ่มต้นในเดือน พ.ค.จากเทศกาลไพรด์พาเหรด (pride festival) ประเทศสเปน ซึ่งสัปดาห์นี้ประเทศไทยเราก็จะมีงานไพรด์พาเหรด pride festivalขึ้น จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังเที่ยวบินตรงจากประเทศที่พบการติดเชื้อในประเทศแล้ว ตอนนี้มี 5 จากเดิม 3 ประเทศ คือ แอฟริกา อังกฤษ โปรตุเกส สเปน และแคนาดา และจับตาเยอรมนีเพิ่มเติม ทั้งนี้ ผู้เดินทางเข้าประเทศไทย เฉลี่ยวันละประมาณ 1 หมื่นคน

ส่วนกรณีที่ว่า ผู้เข้าร่วมงานไพรด์พาเหรดต้องเฝ้าระวังตนเองกี่วัน ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากมั่นใจว่าไม่ได้ใกล้ชิดผู้ที่อาการป่วย ออกผื่นก็ไม่น่ากังวล แต่หากใกล้ชิดกันโดยไม่ได้สังเกตก็เป็นความเสี่ยง ฉะนั้นหากพบผู้ที่มีอาการผื่นก็ขอให้พามาตรวจที่ รพ. เพื่อยืนยันว่าไม่ใช่โรคฝีดาษลิง ซึ่งระยะฟักตัวของโรคคือ 5-21 วัน ดังนั้น หากจะเฝ้าระวังตัวเองก็ต้องอย่างน้อย 3 สัปดาห์หลังจากมีความเสี่ยง อาการเบื้องต้น 10 วันแรกจะเป็นไข้ หลังจากนั้นจะเป็นผื่นขึ้น ก็ขอให้รับการตรวจที่โรงพยาบาล

“คาดว่าสัปดาห์หน้าจะพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย เนื่องจากสัปดาห์นี้ จะมีการเดินขบวนพาเหรดงานไพรด์ในไทยที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าร่วมงาน ก็อาจจะพบผู้ป่วยเข้ามาอย่างแน่นอน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ ย้ำถึงมาตรการที่ต้องเตรียมในการจัดงานไพรด์พาเหรด ว่า ขณะนี้ผู้ที่จัดงานยังไม่ได้ประสานข้อมูลมา แต่กระทรวงสาธารณสุข วางแผนระบบเฝ้าระวังสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร พร้อมประสานเครือข่ายผู้ดูแลงานโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เข้าไปรักษาในคลินิกเฉพาะทางด้วย

ขอย้ำว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง ดังนั้น มาตรการ Universal Prevention หรือ UP ด้วยการเว้นระยะห่างกันจะดีที่สุด ซึ่งหากมั่นใจว่าไม่ได้ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการป่วย ออกผื่นก็ไม่น่ากังวล แต่หากใกล้ชิดกันโดยไม่ได้สังเกต ก็เป็นความเสี่ยง เพราะฉะนั้น หากพบผู้ที่มีอาการผื่น ก็ขอให้พามาตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อยืนยันว่าไม่ใช่โรคฝีดาษลิง ทั้งนี้ระยะฟักตัวของโรคคือ 5-21 วัน ดังนั้น หากจะเฝ้าระวังตัวเองก็ต้องอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังจากความเสี่ยงนั้น ๆ อาการเบื้องต้น 10 วันแรกจะเป็นไข้ หลังจากนั้นจะเป็นผื่นขึ้น ก็ขอให้รับการตรวจที่โรงพยาบาล