ระวัง “แมลงวันทองพริก”

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อน มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือน “ผู้ปลูกพริก” ในระยะเก็บเกี่ยว รับมือ “แมลงวันทองพริก” ตัวเต็มวัยวางไข่ในระยะพริกใกล้เปลี่ยนสี ไปจนกระทั่งผลสุก หนอนกัดกินชอนไชอยู่ภายในผล ทำให้ผลพริกเน่า ร่วงหล่น เมื่อหนอนโตเต็มที่จะเจาะออกมาเข้าดักแด้ในดิน

278639114 317394107206477 2240820112792228121 n 1

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

  1. ทำความสะอาดแปลงปลูก โดยการเก็บพริกที่ร่วงหล่นเผาทำลาย เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ของ“แมลงวันทองพริก”
  2. ใช้น้ำมันปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% EC อัตรา 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เน้นพ่นที่ “ผลพริก”ทุก 5-7 วัน ในกรณีพื้นที่ที่พบการระบาดเป็นประจำ พ่นครั้งแรกเมื่อ “พริก” เริ่มติดผล หยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 5-7 วัน
  3. เมื่อ“พริก”เริ่มติดผล พ่นเหยื่อพิษโปรตีนเป็นจุดทุกต้นรอบแปลงและพ่นเป็นแถวต้นละจุด ห่างกันแถวละ 5 เมตร พ่นทุกสัปดาห์ หรือ เทเหยื่อพิษโปรตีนใส่ในกับดักดัดแปลง เช่น ขวดพลาสติกเจาะช่องให้แมลงสามารถบินเข้ากับดักได้และติดตั้งกับดักสูงจากพื้นดิน 15 เซนติเมตร รอบแปลงปลูก
  1. ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ มาลาไทออน 83% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

278639114 317394107206477 2240820112792228121 n 1 1

นอกจากนี้ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ยังได้เตือนให้ ระวัง “โรคเหี่ยว” (เชื้อรา Fusarium oxysporum) Fusarium oxysporum ใน“พริก”

โดยระบุว่า สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อน มีแสงแดดจัดสลับกับท้องฟ้ามืดครึ้มบางช่วงของวัน และมีฝนตกบางพื้นที่ เตือน “ผู้ปลูกพริก” ในระยะเจริญเติบโตทางลำต้น รับมือ “โรคเหี่ยว” (เชื้อรา Fusarium oxysporum)

278709086 318710310408190 2591068250780145053 n

อาการเริ่มแรก พบใบพริกที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นมีสีเหลือง แล้วขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน ต่อมาใบส่วนยอดจะเหี่ยวลู่ลงและหลุดร่วงจากต้น ส่วนใหญ่มักเกิดโรคในระยะติดดอกและผล จึงทำให้ดอกและผลอ่อนร่วงไปพร้อมกับใบ กิ่งหรือแขนงที่ยังอ่อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้วแห้งตาย ถ้าตัดลำต้นตามขวางจะเห็นท่อน้ำท่ออาหารของพืชเป็นสีน้ำตาล เมื่อถอนต้นขึ้นมาจากดินจะพบว่าส่วนของโคนต้นและรากถูกทำลาย เปลือกหลุดร่อนเน่าเป็นสีน้ำตาลเข้ม รากส่วนใหญ่จะขาดหลุดติดอยู่ในดิน “ต้นพริก”จะเหี่ยวแห้งตายเป็นหย่อม ๆ ในแปลงปลูก หากเกิดโรครุนแรงในระยะที่ต้นยังเล็ก จะทำให้ต้นแคระแกร็น และเหี่ยวแห้งตายในที่สุด

แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. หลีกเลี่ยงการ “ปลูกพริก”ในพื้นที่ที่เคยเกิดโรคนี้ระบาดมาก่อน

๒. ก่อนปลูกควรไถกลับหน้าดินตากแดด และใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์เพื่อปรับสภาพดิน

๓. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี

๔. ไม่ “ปลูกพริก”แน่นเกินไป เพื่อให้สามารถระบายความชื้นได้ดี

๕. ตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ เมื่อพบโรค ถอนต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วโรยปูนขาว หรือใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น อีไตรไดอะโซล ๒๔% อีซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อีไตรไดอะโซล + ควินโตซีน ๖% + ๒๔% อีซีอัตรา ๓๐-๔๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร รดดินในหลุม และบริเวณใกล้เคียง เพื่อป้องกันเชื้อราแพร่ไปยังต้นข้างเคียง

๖. แปลงที่มีการระบาดของโรค ควรปลูกปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

ที่มา สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร