กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวสุดยอด”อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่”วิจัย 17 ปี“กวก. สุพรรณบุรี 1” 

กรมวิชาการเกษตร เปิดตัวอ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ “กวก. สุพรรณบุรี 1” หลังนักวิจัยใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์ 17 ปี หวังเป็นทางเลือกใหม่หลังเกษตรกรใช้พันธุ์ดั้งเดิมนานกว่า 20 ปี ส่อเกิดปัญหาพันธุ์เสื่อม สะสมโรคและแมลง โชว์พันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูงทั้งน้ำอ้อยและผลผลิตอ้อย สีน้ำอ้อยเหลืองอมเขียว กลิ่นหอม และรสชาติหวาน ถูกใจผู้บริโภค

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำประมาณ 120,000 ไร่กระจายทั่วทุกภาคของประเทศ โดยนิยมนำอ้อยคั้นนำมาบริโภคเป็นน้ำอ้อยสดและนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อีกมากมาย เช่น น้ำเชื่อมอ้อย น้ำตาลอ้อยก้อน และน้ำตาลอ้อยผง ซึ่งมีการนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรมในครัวเรือน  และอุตสาหกรรมระดับท้องถิ่น เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 

43A79348 D1AC 4F5B AB07 6D3E7E28211F

โดยพันธุ์อ้อยคั้นน้ำที่เกษตรกรนิยมปลูกในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์สุพรรณบุรี 50 ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมได้รับการรับรองพันธุ์ในปี 2539 ปลูกกันมายาวนานมากกว่า 20 ปี ซึ่งการที่เกษตรกรใช้อ้อยพันธุ์เดิมปลูกติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้มีความเสี่ยงจากการเสื่อมของพันธุ์ มีการสะสมโรคและแมลง อาจสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก การวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่จึงเป็นแนวทางสำคัญในการเตรียมพร้อมแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว เพื่อเป็นพันธุ์ทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกร

F25715A5 AACA 4F88 8FDD E4009F072F94

ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน เป็นหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรที่ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาทั้งด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมของอ้อย จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่  เพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยคั้นน้ำที่มีผลผลิตน้ำอ้อย ผลผลิตอ้อย สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 และมีคุณภาพน้ำอ้อย ได้แก่ สีน้ำอ้อยและรสชาติ ดีกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เพื่อเป็นพันธุ์ทางเลือกให้แก่เกษตรกร สำหรับลดความเสี่ยงจากการเสื่อมของพันธุ์ และเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์อ้อยคั้นน้ำ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยคั้นน้ำ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำอ้อยสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำอ้อย สามารถดำเนินอาชีพได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

F580D136 7FB7 4557 9E8E 455E07952863

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการดำเนินงานวิจัยในระหว่างปี 2547-2564 รวมระยะเวลา 17 ปี ตั้งแต่กระบวนการผสมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ และประเมินผลผลิตขั้นต่างๆ เพื่อศึกษาข้อมูลด้านผลผลิตและคุณภาพน้ำอ้อยในแปลงทดลองหน่วยงานเครือข่ายของกรมวิชาการเกษตรและในไร่เกษตรกร ที่เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทย จนถึงการประเมินความพึงพอใจและการยอมรับจากเกษตรกรผู้ผลิต จำหน่ายและบริโภค จนประสบผลสำเร็จ ได้อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ผ่านการรับรองพันธุ์พืชจากคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม  2565 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า“กวก. สุพรรณบุรี 1” มีลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 3,622 ลิตรต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี50 ร้อยละ 26 ให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 11.43 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ร้อยละ 21 สีน้ำอ้อยมีสีเหลืองอมเขียว กลิ่นหอม  รสชาติหวาน มีความหวาน 21.54 องศาบริกซ์  เจริญเติบโตเร็ว  ลำแตกน้อย

77308B93 E87D 42AB A799 F4D86F36E127

การวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำ กวก. สุพรรณบุรี 1 ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเสื่อมของพันธุ์จากการใช้พันธุ์เดิมต่อเนื่องมานานแล้วยังช่วยเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์อ้อยคั้นน้ำ ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยคั้นน้ำ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำอ้อยสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำอ้อย สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร สามารถดำเนินอาชีพได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง โดยจากพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำทั้งหมดประมาณ 120,000 ไร่ ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 336 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 16,800 ล้านบาท(ราคา 50 บาทต่อลิตร) 

04A7439C 7FDF 4D55 BD7A 29EB08D278C7

อ้อยคั้นน้ำ กวก.สุพรรณบุรี 1 ให้ผลผลิตน้ำอ้อย 3,622 ลิตรต่อไร่ จะทำให้ได้ผลผลิตน้ำอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 434.64 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 21,732 ล้านบาท  

ส่วนด้านผลผลิตอ้อยจากที่ให้ผลผลิตอ้อย 1,080,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,860 ล้านบาท (ราคา 4,500 บาทต่อตัน) อ้อยคั้นน้ำกวก. สุพรรณบุรี 1 ให้ผลผลิตอ้อย 11.43 ตันต่อไร่ จะได้ผลผลิตอ้อย 1,371,600 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6,172.2 ล้านบาท  

903FAF6B 4FE4 4C66 BB51 AFD354DDBF0E

โดยรวมแล้วผู้ผลิตและผู้บริโภค มีความพึงพอใจอ้อยคั้นน้ำพันธุ์ กวก. สุพรรณบุรี 1 ทั้งด้านผลผลิตน้ำอ้อย ผลผลิตอ้อย ความหวาน กลิ่นหอม และสีของน้ำอ้อย สามารถนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้หลากหลาย เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี โทรศัพท์ 035-528255 

274E85FC 534E 498B 87C9 2ADBEBE7E0C3
4707D4F3 A442 4D88 8CEA E8F81E98F27C
FE53FDC6 1B81 4F99 A9FB D74942369533