(มีคลิป)“โลมาหลังโหนกฝูง 2” โผล่อวดโฉมเขตทะเลชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช

“โลมาหลังโหนกฝูง 2” โผล่อวดโฉมเขตทะเลชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช กรมประมงขอบคุณชาวประมงที่มีส่วนร่วมกับมาตรการฯเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำ

​กรมประมงเผยพบ “ฝูงโลมาหลังโหนก” 5-8 ตัว ว่ายน้ำหากินบริเวณทะเลชายฝั่งอ่าวท้องเนียน ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดยบริเวณจุดที่พบอยู่ใกล้กับบริเวณซั้งบ้านปลากลุ่มเขาออกการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางของกรมประมงในการอนุรักษ์สัตว์ทะเล ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนประมง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการช่วยปกป้องทรัพยากรสัตว์น้ำให้พร้อมส่งต่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป 

ED2BAEC7 5C2C 4457 8918 11E0F9C8A82E

นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์  อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลสิชล (นครศรีธรรมราช) กองตรวจการประมง กรมประมง ขณะเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันฯ ออกปฎิบัติหน้าที่ควบคุมการทำประมงพื้นที่เขตทะเลชายฝั่งพบฝูงโลมาหลังโหนก (Indopacific humpback dolphin) ชื่อวิทยาศาสตร์ Sousa chinensis จำนวน 5 – 8 ตัว ว่ายน้ำอยู่ตามแนวเขตชายฝั่งทะเล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน หลังพบโลมาฝูงแรกขึ้นในพื้นที่ อ.ปะนาเระจ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำที่ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

กรมประมงนอกจากจะดำเนินการผลักดันแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570 ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม(MMPA) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) ของสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินโครงการควบคุมเฝ้าระวังพื้นที่ทำการประมงในบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อเฝ้าระวังป้องกันการใช้เครื่องมือทำการประมงที่อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการในบริเวณแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ครอบคลุมพื้นที่ทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ส่วนในด้านการบังคับใช้กฎหมาย กรมประมงได้ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยยึดหลักการ 3 ป. ป้อง ปราม ปราบ 

โดยขั้นต้นเน้นลงพื้นที่พูดคุยกับชาวประมง ประชาสัมพันธ์ข้อกฎหมายภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการทำการประมงผิดกฎหมาย อาทิ การทำการประมงในพื้นที่ห้ามใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย หรือการใช้เครื่องมือประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง การใช้เครื่องมือประมงอย่างไรไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงการช่วยเหลือสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมเบื้องต้น ฯลฯ

8F511721 40E1 49E7 8876 B9588EFCC1B0

อย่างไรก็ตาม นอกจากการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย ส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ นั่นคือ การมีส่วนร่วมของชาวประมง โดยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมประมงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง และโครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนประมง ให้กับองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นจำนวน 69 ชุมชน อีกทั้ง ทางชุมชนประมงในพื้นที่จังหวัดได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรโดยกิจกรรรมภายใต้โครงการ ประกอบด้วย การจัดทำแนวเขตบริหารจัดการทรัพยากร การสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ การปล่อยพันธ์สัตว์น้ำ การจัดทำธนาคารสัตว์น้ำ(ปูม้า) การเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมายร่วมกับเจ้าหน้าที่ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ของตน

F34B7098 D484 49BD 841E B159647CDEF0

​​​​​​​​​​​อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า “กรมประมงขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับทางกรมประมง การพบโลมาหลังโหนกบริเวณตามแนวเขตชายทะเลพื้นที่ใกล้เคียงในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน สะท้อนให้เห็นว่า การกำหนดมาตรการคุ้มครองและฟื้นฟูระบบนิเวศสร้างความหลากหลายของสัตว์น้ำทะเลกลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนมในท้องทะเลให้คงความอุดมสมบูรณ์เอื้อต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันอนุรักษ์และคุ้มครองโลมาและทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนสืบต่อไป”