นักวิจัยออสเตรเลียคิดค้นวัคซีนแบบ ‘แผ่นแปะ’ ตัวใหม่ ต้านโควิด-19 ดีกว่าแบบฉีด 

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์(UQ)ของออสเตรเลีย เชื่อมั่นว่าวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) แบบ “แผ่นแปะ” ตัวใหม่จะมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสฯชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ๆ มากกว่าวัคซีนเข็มฉีดแบบดั้งเดิม

การศึกษาในหนูทดลองที่เผยแพร่ในวารสารวัคซีน (Vaccine)เมื่อวันพฤหัสบดี (28 ก.ค.)พบว่า วัคซีนแบบแผ่นแปะชนิดที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มความคงสภาพของโปรตีนส่วนหนามของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือเฮกซะโปร (Hexapro) มีประสิทธิภาพต่อสู้กับเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน สูงถึง 11 เท่าเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดเดียวกันที่ฉีดด้วยเข็ม

ดร.คริส แมคมิลแลน เจ้าหน้าที่วิจัยจากสถาบันเคมีและอณูชีววิทยาของมหาวิทยาลัยฯ เผยว่าแผ่นแปะวัคซีนที่ประกอบด้วยเข็มจิ๋วขนาดเล็กความหนาแน่นสูง (microarray patch) จะสามารถส่งวัคซีนเข้าสู่ชั้นผิวหนังที่อุดมไปด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันได้อย่างแม่นยำ

แผ่นแปะวัคซีนเฮกซะโปร ซึ่งคิดค้นขึ้นโดยมหาวิทยาลัยฯ ร่วมกับแวกซ์แซส (Vaxxas) บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีชีวภาพในเมืองบริสเบน จะส่งวัคซีนทางผิวหนังเข้าสู่ร่างกายผ่านเข็มขนาดเล็กนับพันเข็ม

คณะนักวิจัยได้ทดลองให้วัคซีนเฮกซะโปรทั้งแบบเข็มฉีดหรือแผ่นแปะในหนูทดลอง 8 ตัว ก่อนจะนำเลือดของพวกมันไปทดสอบกับตัวอย่างโรคโควิด-19 หลายตัวอย่าง ซึ่งรวมถึงตัวอย่างสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์อัลฟา เดลตา และโอไมครอน

ผลวิจัยพบว่าวัคซีนแบบแผ่นแปะกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพยับยั้งเชื้อไวรัสฯ ทั้งสายพันธุ์โอไมครอนและเดลตา สูงกว่าวัคซีนแบบเข็มฉีด

061B48F8 626C 4936 AFAE 6ACB9012F516

ดร. เดวิด มุลเลอร์ หนึ่งในนักวิจัย กล่าวว่าผลวิจัยครั้งนี้เป็นหลักฐานเบื้องต้นว่าวัคซีนแบบแผ่นแปะอาจช่วยต่อต้านการกลายพันธุ์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะพิสูจน์ได้

มุลเลอร์กล่าวว่าประสิทธิภาพที่ลดลงของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นเห็นได้ชัดจากสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งสามารถกลายพันธุ์ได้มากกว่า 30 ตำแหน่งบนโปรตีนหนาม พร้อมเสริมว่าสิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าวัคซีนแบบเข็มที่มีอยู่ยังคงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีแผ่นแปะวัคซีนจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และวัคซีนอื่นๆในอนาคต เนื่องจากสามารถขนส่งและใช้งานได้ง่าย รวมทั้งสามารถรักษาความคงตัวที่อุณหภูมิห้องได้นานถึง 30 วัน

ด้านเดวิด โฮอี้ ซีอีโอของแวกซ์แซส กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทฯ กำลังขยายขนาดการผลิตขณะวัคซีนเข้าสู่การทดลองทางคลินิกขนานใหญ่ ก่อนจะนำเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ โดยบริษัทฯ จะก่อตั้งโรงงานผลิตแห่งแรกในบริสเบน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การค้าวัคซีนเชิงพาณิชย์

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว (XinhuaThai)