กรมชลฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ “คลองรังสิตประยูรศักดิ์”

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และนายเลอบุญ อุดมทรัพย์ ผู้อำนวยการส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ลงพื้นที่บริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิต จังหวัดปทุมธานี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำคลองรังสิตประยูรศักดิ์ โดยมี นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ และผู้เกี่ยวข้อง รายงานผลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ เร่งระบายน้ำคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อพร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตามศักยภาพของคลอง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ เตรียมพร้อมรองรับปริมาณน้ำจากทางตอนบนและปริมาณฝนในพื้นที่ และได้เน้นย้ำให้มีการดูแล ซ่อมแซม และบำรุงรักษา เครื่องสูบน้ำและระบบชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งหมั่นกำจัดวัชพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

297355727 436493291857083 5880858144300558389 n 1
สถานการณ์น้ำ “คลองรังสิตประยูรศักดิ์”

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลฯ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ส่งผลทำให้หลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเกิดน้ำท่วมขัง กรมชลประทาน เร่งช่วยเหลือพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยการสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำหนองจอก และสถานีสูบน้ำประเวศบุรีรมย์ โดยเครื่องสูบน้ำขนาด 3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 12 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกทางคลองพระองค์ไชยานุชิต ออกทางสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำบางประกง และริมคลองชายทะเลอ่าวไทย ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานในทุกพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศใน 7 วันข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 3-9 สิงหาคม 2565 ดังนี้

ในช่วงวันที่ 4 – 5 ส.ค. 65 ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาวตอนบน และเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังแรงปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 6 – 9 ส.ค. 65 ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 7 – 8 ส.ค. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อนในระยะต่อไป และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 10 – 11 ส.ค. 65

ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วยตลอดช่วง ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง