กางแผน”ฟรุ้ทบอร์ด”แก้ปัญหา”ลำไยภาคเหนือ”ปี2565 

ลำไยที่กำลังเป็นประเด็นร้อนๆทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเกษตรในเวลานี้ เนื่องจากปัญหาราคาที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ซึ่งเรื่องนี้ เรื่องเล่าข่าวเกษตร จะเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินการแก้ปัญหาของภาครัฐว่ามีทิศทางอย่างไร จะดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างไรบ้าง

ในภาพรวมลำไยทั้งประเทศ วันนี้ข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ในปี 2565 เกษตรกรขึ้นทะเบียนผู้ปลูกลำไย ใปแล้ว 138,656 ครัวเรือน  241,675 แปลง มีพื้นที่ปลูกลำไย 1,039,756 ไร่ เป็นลำไยที่อายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 26,219 ไร่ เป็นลำไยที่มีอายุมากกว่า 5 ปี จำนวน 1,013,536 ไร่ 

ข้อมูลนี้แตกต่างจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในปี 2564 กับ 2563 อยู่พอสมควร คือ ปี 2564 มีเนื้อที่ 1,463,337.4575 ไร่ เป็นลำไยที่ให้ผลผลิต 1,422,794.487ไร่ ปี 2563 มีเนื้อที่ 1,721,292.6125 ไร่ให้ผลผลิต 1,679,472.705 ไร่ข้อมูลนี้บ่งชี้ ลำไยเริ่มลดพื้นที่ลง

แต่ในปี 2565 นี้ แม้พื้นที่จากข้อมูลเกษตรกรที่ลงทะเบียนจะลดลงแต่จากการคาดการณ์ผลผลิตลำไยจากทั่วประเทศ มีการคาดการณ์ว่าลำไยจะมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นถึง 20 % 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า สถานการณ์ลำไยในปีนี้มีการคาดการณ์ผลผลิตจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 64 อยู่ราวๆ 20 % มีผลผลิตในฤดูอยู่ที่ 812,818 ตัน นอกฤดู 259,746 ตัน ซึ่งรวมกว่า 1 ล้านตัน 

ภาคเหนือจะมีลำไยออกสู่ตลาดในเวลานี้เยอะที่สุด จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน โดยช่วงที่ให้ผลผลิตมากต้องเฝ้าระวัง คือ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม ซึ่งตนได้สั่งการให้ฟรุ้ทบอร์ด ได้วางแผนรับมืออย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 (COVID – 19) ในจีนยังไม่คลี่คลาย ทําให้เกิดปัญหาการปิดด่านหรือจํากัดการเข้าออกในแต่ละวัน ทางจีนเองมีมาตรการที่เข้มงวดในการคัดกรองโควิด 19 (COVID –19)ทําให้เกิดปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่จะเดินทางไปยังประเทศจีนไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถส่งออกลําไยไปจีนได้ ซึ่งความต้องการในจีนยังคงมีมาก แต่ติดปัญหาเรื่องระบบโลจิสติกส์จากไทยไปจีน

นอกจากนั้นในฤดูกาลที่ผ่านมายังมีลําไยอบแห้งค้างอยู่ในจีนเป็นจํานวนมากเนื่องจากเป็นลําไยอบแห้งที่ไม่มีคุณภาพที่เกิดจากการใช้ลําไยที่แก่จัดในการอบแห้ง ซึ่งตลาดในจีนไม่ต้องการ จึงทําให้การรับซื้อลําไยอบแห้งลดลง 40 – 50 % ผู้ประกอบการจีนไม่สู้ราคาลําไยในฤดูของไทย เนื่องจากประเทศจีนก็สามารถผลิตลําไยคุณภาพราคาถูกได้ อีกทั้งลําไยในจีนไม่มีการอบกํามะถันเหมือนกับลําไยไทย 

ลําไยเนื้อสีทองในไทยตอนนี้ราคาตกมาก เนื่องจากยังคงมีค้างอยู่ในสต๊อก และลําไยไทยยังต้องเผชิญกับลําไยสีทองของเวียดนามที่มีราคาถูกกว่าลําไยสีทองในประเทศไทย ปัญหาโรงอบในไทย ยังไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ตนยืนยันว่าแม้จะเกิดปัญหาบ้างแต่ทางฟรุ้ทบอร์ดพร้อมที่จะผลักดันแนวทางต่างๆเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยอย่างเต็มที่”

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้สะท้อนภาพของลำไยในปีนี้ไว้น่าสนใจ“ข้อมูลเกษตรกรที่มีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกลำไยของกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2565 นี้ มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 138,656 ครัวเรือน  241,675 แปลง มีพื้นที่ปลูกลำไย 1,039,756 ไร่  ปีนี้ลำไยมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น 20% 

แนวทางของฟรุ้ทบอร์ด ได้วางแผนบริหารจัดการเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งระยะก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตเน้นการกระจายผลผลิตออกนอกฤดู การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน (GAP) โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้กลไกที่สำคัญในงานส่งเสริมการเกษตร คือการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า เกษตร (ศพก.) รวมทั้ง ดำเนินการผ่านงบพัฒนาจังหวัด พื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด  

ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต เน้นการให้คำแนะนําการเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะที่เหมาะสมและวิธีการที่เหมาะสม ติดตามสถานการณ์ด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต พื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 และระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เน้นการให้คําแนะนําเกษตรกรในการเตรียมต้นในฤดูกาลถัดไปด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม และจัดทําแนวทางพัฒนาลําไยคุณภาพในปีต่อไป พื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือ” 

1659748478091

อย่างไรก็ตามในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งถือเป็นหัวใจของการบริหารจัดการลำไยของฟรุ้ทบอร์ดในการบริหารจัดการผลผลิตโดยการกระจายผลผลิตลําไยปริมาณ 764,777ตัน ดําเนินการในพื้นที่ 8จังหวัด ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน 2565 ดังนี้ การบริโภคสดในประเทศ ด้วยวิธีการ กระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตผ่านผู้ประกอบการ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน Modern Trade การจัดงานประชาสัมพันธ์ ธ.ก.ส./ไปรษณีย์/ตลาดออนไลน์ ตลาดภายในจังหวัด/แหล่งท่องเที่ยว 

โดยมีสัดส่วนการกระจายผลผลิตสําหรับการบริโภคสดในประเทศประมาณ 197,452 ตัน(ร้อยละ 25.82) การแปรรูป ด้วยวิธี การอบแห้งทั้งเปลือก การอบแห้งเนื้อสีทอง น้ำลําไยสกัดเข้มข้น ลําไยกระป๋อง ลําไยฟรีซดราย และลําไยแช่แข็ง โดยมีสัดส่วนการแปรรูปลําไยทั้งหมด ประมาณ 430,524 ตัน(ร้อยละ 56.29) การส่งออกลําไยสด มีสัดส่วนการส่งออกลําไยสด ประมาณ 136,801 ตัน(ร้อยละ 17.89)

ในส่วนของการเตรียมการบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกินในช่วง Peak ซึ่งประกอบด้วย แผนเผชิญเหตุที่จังหวัดดําเนินการแก้ไขได้เอง ได้แก่ จัดงานประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการบริโภคในจังหวัดปลายทางนอกแหล่งผลิต เฝ้าระวังการซื้อขายผลผลิตโดยเฉพาะในช่วง Peak ที่ราคาอาจตกต่ำและเกษตรกรรวมตัวกัน การกําหนดมาตรฐานการรับซื้อที่ชัดเจน และเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกล้ง ตั้งคณะทํางานร่วมสังเกตการณ์ตรวจรับรองมาตรฐานเครื่องคัดกรองขนาดลําไยสดตัดขั้วรูดร่วง การกระจายสดนอกแหล่งผลิต 

การเพิ่มจุดจําหน่ายในจังหวัด/แหล่งท่องเที่ยวและจัดงานเทศกาลลําไย ส่งเสริมการผลิตลําไยนอกฤดู เชื่อมโยงร้านธงฟ้า และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เป้าหมาย 700 อําเภอ(65 จังหวัด)เพิ่มจุดจําหน่ายในจังหวัด/แหล่งท่องเที่ยว และจัดงานเทศกาลลําไย รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มแปลงใหญ่และผลิตลําไยนอกฤดู ดําเนินการในพื้นที่ 6 จังหวัดได้แก่เชียงใหม่ เชียงราย ลําปาง ลําพูน แพร่และตาก” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว