“เปิด 3 เหมืองโปแตซ”…แก้วิกฤติปุ๋ยแพง เจาะกลางใจ โดย ขุนพิเรนทร์

ราคาปุ๋ยกับราคาพืชผลทางการเกษตร เหมือนพี่น้องชาวอีสานจุดบั้งไฟขอฟ้าขอฝน ราคาปุ๋ยเหมือนบั้งไฟขาขึ้น ส่วนราคาพืชผลทางการเกษตร เหมือนบั้งไฟเวลาตก ตัวไหนติดลมบนก็อยู่ได้นานหน่อยแต่ส่วนใหญ่เวลาลงพุ่งลงพอๆกับเวลาขึ้น

ปุ๋ยเคมีในแต่ละปีมีการนำเข้ามาประมาณ 70,000 ล้าน ทั้งในรูปแบบแม่ปุ๋ยและปุ๋ยสำเร็จรูป คำถามที่เริ่มถูกโยนออกไปสู่รัฐบาลคือการแก้ปัญหาปุ๋ยแพง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชงของบ 14,000 ล้าน ไปที่สำนักงบประมาณ โครงการหลักๆที่ “ขุนพิเรนทร์” แอบลัดเลาะสอบถามแถวถนนราชดำเนินมาคือการช่วยเหลือเกษตรกรกระสอบละ 200 บาท จำนวนไม่เกิน 10 กระสอบ/คน ใช้งบตัวนี้ราวๆ 10,000 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรประมาณ 5 ล้านราย นอกจากนั้นคือ การส่งเสริมการทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง 3,000 ล้าน รวมไปถึงโครงการที่ลงไปที่ศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชน การชงแก้ปัญหาปุ๋ยแพงครั้งนี้เป็นการแก้ไขในระยะสั้นๆ ส่วนมาตรการระยะยาวจะตามมาอีกเป็นระลอก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่ “ขุนพิเรนทร์”มองคือ ระยะยาวๆ การขับเคลื่อนทั้งระบบ การสร้างความสมดุลทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำคู่ขนานกันไป 

สิ่งหนึ่งที่ถามกันมาที่สุดคือ บ้านเราสามารถทำเหมืองปุ๋ยได้หรือไม่ ทำไมเราต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีถึง 98 %  เรื่องนี้ “ขุนพิเรนทร์” มองไปที่เหมืองโปแตซ 

กรมทรัพยากรธรณีเริ่มสำรวจแหล่งโปแตซ เมื่อปี 2516 พบ 2 แหล่ง ได้แก่ แอ่งสกลนคร และแอ่งโคราชซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าแร่โปแตซ ประมาณ 7-8 แสนตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แหล่งนำเข้าโปแตซที่สำคัญของไทย ได้แก่ แคนาดา และเบลารุส ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี(พ.ศ. 2560 – 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 ได้กำหนดแนวทางให้มีการส่งเสริม การผลิตแร่โปแตซให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ รวมทั้งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำ ในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ปุ๋ยจากแร่โปแตซสำหรับอาเซียนในระยะแรกและสำหรับภูมิภาคเอเชีย ในระยะต่อไป

ปัจจุบันในประเทศไทยมีเหมืองแร่โปแตซอยู่ 3 ราย ประกอบด้วย 

1.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2558 มีอายุ 25 ปี ปริมาณการผลิต 2.15 ล้านตัน/อายุโครงการ แผนการผลิต 100,000 ตัน/ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาน้ำใต้ดินเข้ามาในอุโมงค์ก่อนถึงชั้นแร่

2.บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) อยู่ใน ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2558 มีอายุ 25 ปี ปริมาณการผลิต 17.33 ล้านตัน/อายุโครงการ แผนการผลิต 1,100,000 ตัน/ปี ซึ่งโครงการได้มีการทดลองทำเหมืองโดยก่อสร้างอุโมงค์ถึงชั้นแร่แล้ว คาดว่าจะเปิดดำเนินการ ในปี 2565 ในส่วนของผู้ถือหุ้น ประเทศไทยถือหุ้นบริษัทอยู่ที่ 60% โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 20% ขณะนี้ อยู่ระหว่างระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการ จึงจำเป็นต้องเร่งหาผู้ถือหุ้นจากภาคเอกชนหรือบริษัทที่อยู่ภายใต้ การกำกับดูแลของภาครัฐแทนกระทรวงการคลังเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการดำเนินงานโครงการต่อไป

3.บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด อยู่ใน ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้ยื่นประทานบัตรเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณา ปริมาณการผลิต 33.67 ล้านตัน/อายุโครงการ แผนการผลิต 2,000,000 ตัน/ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สศช.และ ทส.) ก่อนนำเรื่องเข้า ครม. ก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป

ข้อมูลวันนี้มาแบบนี้ การทำเหมืองแร่โปแตซในบ้านเราไม่ใช่ไม่มี แต่ที่เป็นปัญหาคือเรื่องสภาพแวดล้อมที่ทางฝ่าย NGOs หยิบยกขึ้นมาเรียกร้อง 

คำถามคือ การดำเนินการสนับสนุนเหมืองโปแตซ ภาครัฐจริงจังมากแค่ไหน หากเดินหน้าเต็มสูบทำทุกอย่างให้ถูกต้องทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม ภูมิสังคม ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการทั้งสิ้น ส่วนพรรคการเมือง “ขุนพิเรนทร์” เคยถามเรื่องนี้กับ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อปีที่แล้ว วันนั้นพิธาพูดชัดเจนไม่ได้ห้ามการสร้างเหมืองโปแตซ แต่สิ่งที่ขอให้รัฐดำเนินการคือให้สร้างเหมืองตามหลักสากลที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนในพื้นที่ สิทธิชุมชน ต้องไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมให้คำนึงถึงภูมิสังคมในพื้นที่ 

การแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ย วันนี้ไม่ง่าย ไม่ใช่จ่าย 200 ต่อกระสอบ แล้วจบ แต่การแก้ปัญหาต้องขับเคลื่อนกันทั้งระบบ ไม่ใช่ผลักภาระมาที่กระทรวงเกษตรฯอย่างเดียว กระทรวงอุตสาหกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พาณิชย์ คลัง ต่างประเทศ คือทั้งรัฐบาลนั่นหละ พอเกษตรกรมีปัญหาเงียบกันไปหมด

ที่ “ขุนพิเรนทร์”อยากได้ยินจากปากคือ นายกฯจะเอาด้วยกับการทำเหมืองแร่โปแตซหรือไม่?