ส่งฟ้องศาลแล้ว! คดีสวมสิทธิ์ทุเรียน ส.ส.เมืองจันท์ จี้ผู้เกี่ยวข้องเร่งรัดคดีที่ยังค้างก่อนถึงการเปิดฤดูกาลผลไม้

นางสาว ญาณธิชา บัวเผื่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร​ จ.จันทบุรี​ เขต 3​ (ส.ส.จันทบุรี) เปิดเผยว่า ได้รับทราบจากผู้เกี่ยวข้อง กรณีการจับสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยเมื่อราว 2 ปีก่อนที่ จ.จันทบุรี โดยทีมเล็บเหยี่ยวกระทั่งนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องนั้น ล่าสุดทราบว่าพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งฟ้องแล้ว 

มีผู้ถูกกล่าวหา(เจ้าของล้ง) ชาวไทย 1 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อ คือ สำแดงเอกสารอันเป็นเท็จ และพยายามขายของโดยหลอกลวง(ส่วนนี้มีทั้งคดีอาญา และ พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค) ส่วนผู้ร่วมทุนต่างชาติ(ชาวจีน ที่เป็นผู้หญิง) หลบหนีออกจากประเทศไทยตั้งแต่เกิดเหตุ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับ ส่วนกรณีผู้ถูกกล่าวหาชาวไทย ตำรวจสรุปสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องแล้ว

นางสาว ญาณธิชา บอกว่า กรณีนี้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการทางการกฏหมายของไทย นำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่เกี่ยวกับทุเรียนได้ และจะช่วยจัดการผู้ที่ทำไม่ดีให้ออกจากระบบไป เนื่องจากปัญหาเกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่กระทบกับชาวสวนภาคตะวันออกโดยเฉพาะ จ.จันทบุรี โดยตรง 

ส.ส.ญาณธิชา บอกอีกว่า ปี 2565 มีคดีที่เกี่ยวข้องกับทุเรียนใน จ.จันทบุรี ราว 4 คดี ซึ่งยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตร ประสานเจ้าหน้าที่ให้เร่งรัดการดำเนินคดี เพราะต้องการให้ผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษ เพื่อป้องกันผู้ที่กำลังคิดจะทำผิดเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะการปล่อยทิ้งระยะเวลาไว้อาจทำให้ผู้คิดกระทำผิดย่ามใจ และทำผิดบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ถูกลงโทษ

0C11E2A1 7975 4585 A925 2EBDEF947E88
DB056602 1F4E 491A B233 92C4F14E8610

ขณะที่เมื่อวานนี้(23 พ.ย.65)กลุ่มเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออก(จันทบุรี-ระยอง-ตราด) ได้รวมตัวกันที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เพื่อยื่นหนังสือ 2 ฉบับถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้อง 4 ข้อในการเร่งแก้ไขปัญหาทุเรียนในพื้นที่ ประกอบด้วย 

1.การกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียน ปี 2566 

2.แนวทางการป้องกันทุเรียนอ่อน และการนำทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งขายต่างประเทศ 

3.มาตรการแก้ปัญหาการสวมสิทธิใบ GAP ของเกษตรกรที่มีการนำไปขายให้บุคคลที่ 3 ในราคาใบละ100,000-500,000 บาท

และ 4.ขอให้จังหวัดจันทบุรีประสานไปยังผู้มีอำนาจในการระงับคำสั่งการย้าย นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สวพ.6) เข้าทำงานที่กรมวิชาการเกษตร โดยขอให้ทำงานในพื้นที่ จ.จันทบุรี ช่วยชาวสวนอีก 2 ปี เนื่องจากการทำงานแก้ไขปัญหาผลผลิตทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมาเดินมาถูกทางแล้ว

52DC0C40 90D6 41F1 85B3 D37366064005