วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.30 น.นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรรักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
ติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
พร้อมเปิดเผยว่า ตามที่ค่าคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเนื่องจากลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยบริเวณตอนบนมีกำลังอ่อนลง จึงทำให้มีการสะสมของฝุ่นละอองเพิ่มมากขึ้น
ประกอบกับข้อมูลสถานการณ์ค่าคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 มีค่าอยู่ระหว่าง 47 – 128 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ PM10 มีค่าอยู่ระหว่าง 62 – 188 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ถึงระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือเป็นวงกว้างแล้วนั้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน
โดยขอให้ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ลดโอกาสการเกิดไฟป่า บรรเทาปัญหาหมอกควันและปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เพื่อทำฝนบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด
ซึ่งพบว่า ในทุกๆ ปี ภาคเหนือจะได้รับอิทธิพลจากบริเวณความกดอากาศสูง และคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกที่แผ่ปกคลุม ทำให้มีโอกาสเกิดฝน 3-5 วันต่อเดือน และติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อสภาพอากาศเหมาะสมและเข้าเงื่อนไข
โดยมีพื้นที่เป้าหมายช่วยเหลือ จำนวน 6 ดอย ได้แก่ บริเวณดอยพระบาท จังหวัดลำปาง ดอยจระเข้ จังหวัดเชียงราย ดอยกองมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดอยขะม้อ จังหวัดลำพูน ดอยหลวงและดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวังรอยต่อระหว่างจังหวัด จำนวน 19 รอยต่อของพื้นที่ภาคเหนือที่อาจเกิดไฟป่าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังมีการสนับสนุนอากาศยานให้แก่กองทัพ
ภาคที่ 3 เพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าและบินสำรวจจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2566 เป็นต้นมา จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ประกอบด้วยเฮลิคอปเตอร์แบบ Bell 407 จำนวน 1 เครื่อง (พร้อมอุปกรณ์ตักน้ำดับไฟป่า) เครื่องบินแบบ CASA จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องบิน Super King Air จำนวน 1 เครื่อง ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน พี่น้องเกษตรกร งดการเผาทุกประเภท เพื่อช่วยกันลดปัญหามลพิษจากหมอกควันและฝุ่นละออง
และสามารถติดต่อประสานการขอฝนหลวงได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr