ทุเรียนแสนล้าน…ไทยแลนด์แดนราชาผลไม้…พร้อมรับแรงกระแทกหรือยัง?

ปี 2566 ปีที่แข่งขันเรื่องทุเรียนส่งจีนจะเดือดสุด ตลาดบนเจอมูซังคิง/หนามดำของมาเลย์ ตลาดใหญ่ทุเรียนสดเจอเวียดนามที่พร้อมเต็มที่ ไทยแลนด์แดนทุเรียนที่อร่อยที่สุดในโลกเตรียมรับมือแค่ไหน เจาะกลางใจ…โดย…ขุนพิเรนทร์

“ขุนพิเรนทร์” เดินดงฝ่าสวนผลไม้ ทุเรียนแสนล้าน เราพร้อมแค่ไหน ในภาคการผลิตหน่วยงานภาครัฐหรือกรมที่รู้ดีกว่าใครคือ กรมที่อยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกรที่สุด มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อย่างกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความกระจ่างถึงสถานการณ์ภาคการผลิตทุเรียนบ้านเรา 

วันนี้ขุนพิเรนทร์จำเพาะเจาะจงไปที่ทุเรียนภาคตะวันออกที่กำลังจะเริ่มออกมาแล้ว ปีนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร พี่เข้ม อธิบดีเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกขุนพิเรนทร์ว่า สถานการณ์การผลิตทุเรียนออกดอกแล้วร้อยละ 65.29 ทยอยออกดอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาการส่วนใหญ่อยู่ในระยะหัวกำไลและระยะมะเขือพวง บางส่วนดอกเริ่มบานบ้างแล้ว โดยทุเรียนที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ก่อน คือทุเรียนพันธุ์เบาและทุเรียนที่บังคับสารออกดอก โดยจะเป็นพันธุ์กระดุมและหมอนทองบางส่วน ผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566 โดยจะออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากที่สุดในเดือนเมษายน ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไป 

489C3B34 4DC7 40D5 9CD2 A8062AEB4AC4

ทุเรียน 3 จังหวัดของภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ปี 2566 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 555,306 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 512,947 ไร่ (เพิ่มขึ้น 42,359 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.26) เนื้อที่ให้ผลรวม351,546 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 335,278 ไร่ (เพิ่มขึ้น 16,268 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.85) ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 2,152 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 2,184 กิโลกรัม (ลดลง 32 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 1.47) ทำให้มีปริมาณผลผลิตรวม 756,456 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน732,330 ตัน (เพิ่มขึ้น 24,126 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3.30) 

สิ่งที่อธิบดีเข้มแข็งบอกขุนพิเรนทร์คือ เนื้อที่ยืนต้นทุเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกโดยปรับเปลี่ยนพืชอื่นจากยางพารา ลำไย มังคุด เงาะ ลองกองและพื้นที่ว่างเปล่ามาปลูกทุเรียนทดแทนจากความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

รวมทั้งปัจจัยด้านราคาและผลตอบแทนที่อยู่ในเกณฑ์ดี คุ้มค่ากับการลงทุน เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีต้นทุเรียนที่ปลูกในปี 2561 เริ่มให้ผลผลิตในปี 2566 ได้เป็นปีแรกเพิ่มขึ้นถึงจำนวน 18,950 ไร่ 

E51D906E 454B 4649 8AAA 0A0217C608DC

แต่มีข้อมูลบ่งชี้ที่น่าสนใจคือ ปีนี้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นแหล่งปลูกหลักได้รับผลกระทบจากฝนตกชุกติดต่อกันนาน เมื่อฝนหยุดตก มีลมหนาว ต้นทุเรียนปรับสภาพไม่ทัน มีการช็อคกับอากาศ ทำให้ใบเหลือง ใบร่วงหล่น ไม่สามารถสร้างใบสะสมอาหารเพื่อพัฒนาต้นให้สมบูรณ์สร้างดอกได้ทันในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2565 

นอกจากนั้นยังเจอปัญหาพบโรคไฟทอปธอร่าระบาดในหลายพื้นที่ ทำให้ต้นทุเรียนตาย บางส่วนต้นไม่สมบูรณ์ ให้ผลผลิตได้ไม่เต็มต้น และมีต้นทุเรียนที่เริ่มให้ผลผลิต ปี 2566 เป็นปีแรก เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากซึ่งต้นทุเรียนที่ให้ผลใหม่ปีแรก ผลผลิตต่อไร่ยังไม่มาก เมื่อคำนวณโดยค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลงเล็กน้อย ในภาพรวมผลผลิตทุเรียนรวม 3 จังหวัดภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นตามเนื้อที่ให้ผลที่เพิ่มขึ้นในทั้ง 3 จังหวัด

AE91417E 3CE3 432C AC91 1461C33C5CCD

ส่วนประเด็นที่พี่เข้มห่วงใยคือ ทุเรียนเราคุณภาพดีกว่าต่างประเทศมาก ขออย่างเดียวอย่าตัดทุเรียนอ่อนกรมส่งเสริมการเกษตรย้ำเตือนกับเกษตรกร “ตัดก่อนอ่อนไม่มี” ถึงได้กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน ทุเรียนพันธุ์กระดุมและพวงมณี  เก็บเกี่ยว วันที่ 10 มีนาคม พันธุ์ชะนี วันที่  20 มีนาคม ส่วนทุเรียนพันธุ์หมอนทองเก็บเกี่ยววันที่  15 เมษายน 2566

ในส่วนของเกษตรกร  ขอความร่วมมือถ้าเก็บเกี่ยวก่อนวันประกาศฯ ให้นำตัวอย่างผลทุเรียนลูกที่อ่อนที่สุดในรุ่นที่จะทำการเก็บเกี่ยวมาให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เช่น แปลงใหญ่ ฯลฯ 

ตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเพื่อออกใบรับรองความแก่  เพื่อแนบไปกับรถขนส่งทุเรียนไปจำหน่าย ณ ที่ล้ง/โรงคัดบรรจุ พันธุ์กระดุมไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งพันธุ์ชะนีไม่น้อยกว่า 30 พันธุ์พวงมณีไม่น้อยกว่า 30  พันธุ์หมอนทองไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง”

ภาคการผลิต วันนี้พร้อมแล้ว เหลือเพียงระฆังดังขึ้นเท่านั้น ทุเรียนแสนล้านจะไปได้ไกลเช่นเดิมหรือไม่ ไม่นานเกินรอ