กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เฝ้าระวังโรคที่ติดมาจากท่อนพันธุ์

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงการปลูกมันสำปะหลังต้นฤดูฝน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีคำแนะนำเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้ระวังโรคที่สามารถถ่ายทอดได้ทางท่อนพันธุ์ ได้แก่ โรคใบด่างมันสำปะหลังและโรคพุ่มแจ้มันสำปะหลัง เนื่องจากหากเกิดการระบาดในพื้นที่แล้ว จะส่งผลทำให้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตลดลง และกระทบกับรายได้ของเกษตรกรตามมา 

สำหรับโรคใบด่างมันสำปะหลัง อาการของโรค คือ ยอดอ่อนและใบแสดงอาการด่างเขียวอ่อนหรือเหลืองสลับเขียวเข้ม ใบมีขนาดเรียวเล็ก หงิกงอ และเสียรูปทรง การแพร่ระบาดมีสาเหตุมาจากท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เป็นโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นแมลงพาหะถ่ายทอดเชื้อสาเหตุ 

AB193489 6DB6 435A 986C 1D69D9EF2F61

กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้ 

1) เลือกปลูกมันสำปะหลังพันธุ์สะอาดและทนทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 

2) ไม่ควรปลูกพันธุ์อ่อนแอต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ระยอง 11 และ CMR 43-08-89 

3) ทำลายต้นมันสำปะหลังที่แสดงอาการของโรคใบด่างโดยวิธีฝังกลบ วิธีใส่ถุง/กระสอบ และวิธีบดสับ 

4) กำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ โดยพ่นสารเคมีกำจัดแมลงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร 

5) เฝ้าระวังพืชอาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบ เช่น กระเพรา โหระพา ผักชี ฝรั่ง พริก มะเขือ มันฝรั่ง และพืชตระกูลถั่ว รวมทั้งพืชอาศัยของเชื้อไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง เช่น สบู่ดำ ละหุ่ง บริเวณแปลงปลูกมันสำปะหลังด้วย

8391F214 16EF 4FBD 8FF6 48201DB328D2

ส่วนโรคพุ่มแจ้มันสำปะหลัง อาการของโรค คือ ยอดมันสำปะหลังจะแตกพุ่มฝอยมากกว่าปกติใบมีขนาดเล็ก ใบมีสีเหลืองซีด เมื่อลอกเปลือกบริเวณที่แสดงอาการยอดพุ่ม พบว่าใต้เปลือกมีเส้นสีดำ ข้อปล้องสั้นการแพร่ระบาดมีสาเหตุมาจากท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เป็นโรค โดยมีเพลี้ยจักจั่นแมลงพาหะถ่ายทอดเชื้อ และต้นสาบม่วงเป็นพืชอาศัยของโรค 

5F346D87 53E3 423B 99EA F03B660FD252

กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้ 

1) ใช้ท่อนพันธุ์สะอาดจากแหล่งพันธุ์ที่ไม่พบการระบาด 

2) ระยะ 1 เดือนหลังปลูก หากพบต้นแตกยอดเป็นพุ่มผิดปกติให้ถอนทิ้ง 

3) ระยะ 4 เดือนหลังปลูก หากพบต้นที่แตกยอดพุ่มให้หักกิ่งตามจากบริเวณยอดพุ่มประมาณ 30 เซนติเมตรทิ้ง และพ่นสารกำจัดแมลงให้ทั่วแปลงเพื่อกำจัดเพลี้ยจักจั่นที่เป็นพาหะนำโรค 

4) กำจัดวัชพืชทั้งในแปลงและรอบแปลงโดยเฉพาะต้นสาบม่วงที่เป็นพืชอาศัยของโรค 

5) บำรุงต้นมันสำปะหลังให้แข็งแรงโดยการให้ปุ๋ย น้ำและปรับปรุงดินอย่างเหมาะสม

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรค และกระทบต่อพื้นที่ปลูกที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านไร่ทั่วประเทศ

หากเกษตรกรมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน