ทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้คุณภาพเยี่ยมทยอยออกสู่ตลาดแล้ว เชิญลิ้มลองได้ ก.ค. – ก.ย. นี้

นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) นับว่าเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญและมีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ 

โดยทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์ก้านยาว พันธุ์พวงมณี พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์โอวฉี่ (หนามดำ) 

ซึ่งทุเรียนที่ได้รับความนิยมและปลูกมากที่สุดร้อยละ 75 ของพื้นที่ คือ ทุเรียนสายพันธุ์หมอนทอง หรือในพื้นที่ เรียกว่า “บาตามัส” เป็นภาษามลายู ที่บ่งบอกได้ถึงความอร่อย เนื้อละเอียด กรอบนอกนุ่มใน มีกลิ่นหอม และหวานละมุน  

IMG 5104

​ปัจจุบันการปลูกทุเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีการขยายพื้นที่ปลูกและมีพื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 (ข้อมูลจากคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2566) มีพื้นที่ให้ผลผลิตทุเรียนรวมทุกสายพันธุ์ จำนวน 102,047 ไร่ (ยะลา66,788 ไร่ นราธิวาส 28,738 ไร่ และปัตตานี 6,521 ไร่ ) เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 93,171 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.53) เนื่องจากที่ผ่านมาราคาทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับราคายางพาราซึ่งเป็นพืชหลักมีราคาตกต่ำ และเป็นโรค จึงส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกทุเรียนมากขึ้น จึงทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนและหลายพื้นที่เริ่มทยอยให้ผลผลิต 

ทั้งนี้ สศท.9 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตทุเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบว่า เกษตรกรนิยมปลูกช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อทุเรียนมีอายุที่เหมาะสม 118 – 125 วันนับจากดอกบาน โดยปีนี้ คาดการณ์ว่าผลผลิตทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้ผลผลิตรวม 106,763 ตัน(ยะลา 76,741 ตัน นราธิวาส 24,297 ตัน และปัตตานี 5,725 ตัน) หรือ 1,046 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน ออกต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน และจะออกตลาดมากที่สุดเดือนสิงหาคมนี้ จำนวน 74,734 ตัน คิดเป็นร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด  

IMG 5105

ด้านสถานการณ์ตลาดและราคาของทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พันธุ์หมอนทอง (ราคาเฉลี่ยในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตหลัก ณ 24 กรกฎาคม 2566) โดยคาดการณ์ว่าผลผลิตร้อยละ 88.7 จำหน่ายหน้าสวนของเกษตรกร                    

โดยเกรดส่งออก (A B C) ราคา 135 – 145 บาท/กิโลกรัม และแบบตกเกรด ราคา 80 – 85 บาท/กิโลกรัม, รองลงมา ผลผลิตร้อยละ 9.5 เกษตรกรขายปลีก โดยขายตรงให้ผู้บริโภค ราคา 150 – 160 บาท/กิโลกรัม และผลผลิตร้อยละ 1.8 

จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ Facebook และ Line โดยเป็นการเน้นจำหน่ายทุเรียนคุณภาพ มีการรับประกันคุณภาพและพร้อมส่ง ราคา 210 – 250 บาท/กิโลกรัม  

IMG 5101

​ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการผลิตทุเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรร่วมกันพัฒนาการผลิตทุเรียนคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผ่านโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนใต้หรือโครงการทุเรียนคุณภาพของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ 

โดยการสร้างมาตรฐานในการผลิตทุเรียนคุณภาพ ซึ่งเกษตรกรจะต้องดูแลต้นทุเรียนตามขั้นตอนและวิธีการในคู่มือทุเรียนคุณภาพของโครงการฯ เช่น การตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย การผสมเกสร การแต่งดอก การฉีดพ่นสารป้องกันแมลง การตัดแต่งผล การกำจัดวัชพืช การโยงกิ่ง และการให้น้ำ โดยโครงการเริ่มดำเนินการในจังหวัดยะลา เป็นจังหวัดแรกเมื่อปี 2561 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 18 ราย ต้นทุเรียน335 ต้น ซึ่งจากความสำเร็จในระยะแรก ทำให้ขยายพื้นที่โดยครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนใต้ จนทำให้ปี 2566 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 253 ราย ต้นทุเรียน 10,020 ต้น พร้อมกับยกระดับเป็น 20 วิสาหกิจชุมชน และเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 

สำหรับปีนี้ผลผลิตทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ คาดการณ์ว่า ปริมาณมากกว่าปีที่แล้วกว่า 2 เท่า เนื่องจากติดดอกเกือบ 100 % ทำให้ผลผลิตทุเรียนคุณภาพของเครือข่ายฯ จะมีปริมาณมากถึง 1,203 ตัน

​“ทุเรียน ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น ราชาแห่งผลไม้ (King of fruits) นับว่าเป็นพืชที่สำคัญใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ สร้างรายได้ให้เกษตรกร นำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่ ในช่วงกรกฎาคม – กันยายน นี้ มาร่วมลองลิ้มชิมรสชาติทุเรียนชายแดนใต้ 

IMG 5102
IMG 5098

ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจ หรืออุดหนุนผลผลิตทุเรียนคุณภาพ รวมทั้งติดตามการดำเนินงาน เทคนิคการดูแลบำรุงรักษาต้นทุเรียน รวมถึงร่วมส่งกำลังใจให้กับเกษตรกร ผ่านทาง Facebook “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้” หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.9 โทร 0 7431 2996 หรืออีเมล[email protected] ผู้อำนวยการ สศท.9 กล่าวทิ้งท้าย