ชลประทานส่งน้ำช่วย”เกษตรกรบางระกำ”เพาะปลูกแล้วกว่า 5 หมื่นไร่

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมชลประทานได้เริ่มส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ “ทุ่งบางระกำ” (ครอบคลุมพื้นที่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ อ.เมือง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย รวม 265,000 ไร่) ตั้งแต่วันที่ 15มีนาคม ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการส่งน้ำเข้าทุ่งไปแล้ว 46.43 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 15 จากแผนจัดสรรน้ำทั้งหมด 310 ล้าน ลบ.ม. มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว 55,319 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่ “ทุ่งบางระกำ”ทั้งหมด

278897503 365229668984977 5483164560875693751 n 1

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานจะเดินหน้าส่งน้ำเพื่อให้ “เกษตรกร”ได้เพาะปลูกข้าวนาปีตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ และเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากปี 2565 จะมาถึง ช่วยลดความเสี่ยงนาข้าวเสียหายจากการถูกน้ำท่วม

และหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ จะใช้ “ทุ่งบางระกำ” เป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และสุโขทัย รวมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างอีกด้วย

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.65 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะได้เดินทางไปมอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งให้กับโครงการชลประทานทั่วประเทศ ผ่านระบบ VDO Conference ณ สำนักงานชลประทานที่ 3 จ.พิษณุโลก

โดยระบุว่าต้องการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ วางแผนการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า รัดกุมและประณีต สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมควบคุมแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างเคร่งครัด พร้อมย้ำน้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลนและเพียงพอ ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

จากนั้นนายเฉลิมชัย เดินทางเป็นประธานในพิธีคิกออฟส่งน้ำเข้านาในพื้นที่ “บางระกำโมเดล” ถือเป็นการเริ่มต้นฤดูการผลิตข้าวใหม่ในปี 2565 ณ บริเวณฝายส่งน้ำบ้านใหม่โพธิ์ทอง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย พร้อมพบปะพี่น้องเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่บางระกำ โมเดลที่มาคอยต้นรับกว่า 300 คน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เผยภายหลังการคิกออฟส่งน้ำเข้าที่นาในพื้นที่บางระกำโมเดล โดยระบุว่า กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการ “บางระกำโมเดล” ต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 6 ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ครอบคลุมอ.พรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ และ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ให้เร็วขึ้นกว่าปกติ

โดยเกษตรกรสามารถเริ่มเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนของทุกปี เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึง ช่วยลดความเสี่ยงปัญหานาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหาย และยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ชาวนาในทุ่งบางระกำได้เป็นอย่างดี

“ทุ่งบางระกำ”เป็น 1 ใน 11 ทุ่งที่กรมชลประทานปรับปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมา โดยในปีนี้จะเริ่มส่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ให้ทุ่งบางระกำพื้นที่ 2.65 แสนไร่ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 จนเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565 รวมปริมาณน้ำที่จัดสรรประมาณ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)

ภายหลังที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว จะใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วยป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขต จ.พิษณุโลก และตัวเมืองสุโขทัย รวมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขณะเดียวกับได้ร่วมกับกรมประมง จัดหาพันธุ์ปลาน้ำจืดมาปล่อยเข้าทุ่งบางระกำ ช่วยสร้างอาชีพประมงให้เป็นรายได้เสริมกับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย

อธิบดีกรมชลประทานเผยต่อว่า ตลอดเวลาดำเนิน “โครงการบางระกำโมเดล”ตั้งแต่ปี 2560 ได้รับความพึงพอใจและการตอบรับที่ดีจากประชาชนในพื้นที่และเกษตรกรผู้ใช้น้ำ เนื่องด้วยช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ในขณะเดียวกับช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวด้วย นับว่าโครงการบางระกำตอบโจทย์บรรเทาปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ตลอดจนสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับผู้ใช้น้ำได้ทั้งลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำเจ้าพระยา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำ รวมกันทั้งสิ้น 50,108 ล้าน ลบ.ม. (66% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 26,170 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 15,101 ล้าน ลบ.ม. (68% ของแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 64/65) เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,711 ล้าน ลบ.ม. (47% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ 5,015 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,243 ล้าน ลบ.ม. (74% ของแผนฯ) ผลการทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ทั้งนี้ประเทศมีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 7.54 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 117 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 4.40 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 156 ของแผนฯ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร หากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว ให้งดการทำนาต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต