ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจง ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ในการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ถึงนโยบายการแปลงที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด ที่มีกลุ่มทุนใช้เกษตรกรเป็นนอมินี เพื่อถือครองที่ดินว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.ถือเป็นหน่วยงานที่เป็นเผือกร้อน รัฐบาลในอดีตต้องจบลงด้วยข้อพิพาท ส.ป.ก. แต่หากถอดบทเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ก็ถือว่า เป็นคนละประเภทกับรัฐบาลชุดนี้ หรือรัฐบาลชุดก่อนสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีช่วยฯนั้น ตนเองก็ได้ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.จังหวัดกระบี่คืนจากกลุ่มทุนเมื่อปี 63 จำนวนหลายหมื่นไร่และพัฒนาที่ดินโดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นโครงการกระบี่สมาร์ทซิตี้ เพื่อให้ชาวกระบี่ได้เข้าทำกิน พร้อมยึดที่ดิน ส.ป.ก.ในจังหวัดเชียงใหม่คืน เพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรไร้ที่ทำกินได้เข้าทำถึง รวมถึงจังหวัดชุมพรด้วย แม้ตนจะเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ ในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็กล้ายึดที่ดินจากกลุ่มทุน เพื่อคืนรัฐ ให้ ส.ป.ก.นำไปพัฒนา และจัดสรรให้กับเกษตรกรได้ทำกิน
ร้อยเอกธรรมนัส ยังย้ำถึงเจตนาเมื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ตนจะกำกับดูแล ส.ป.ก.เอง เพราะต้องการแก้ปัญหาที่สะสมมานาน ที่ไม่มีใครกล้าแก้ไข และให้ได้จารึกในประวัติศาสตร์ว่า “ปี 2566-2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ชื่อร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถูกขนานนามว่า เป็นรัฐมนตรีสีเทา ได้ทำอะไรให้กับบ้านเมืองบ้าง” พร้อมยืนยันว่าตนเอง ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบนอมินีถือครองที่ดิน ตั้งแต่ระดับอำเภอโดยให้เป็นอนุกรรมการตรวจสอบการเข้าทำกิจของเกษตรกรทุกอำเภอในเขต ส.ป.ก. โดยมีนายอำเภอเป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้นำท้องถิ่น และนักวิชาการร่วมตรวจสอบด้วย หากพบว่า กลุ่มทุนใดให้เกษตรกรเป็นนอร์มินี ถือครองที่ดินโดยมิชอบ ก็จะมีคณะกรรมการชุดใหญ่ซึ่งมีตนเองเป็นประธาน เอาผิดกลุ่มนายทุน
ร้อยเอกธรรมนัส ยังเปิดเผยด้วยว่า ได้มีการตรวจสอบที่ดิน สปก.ที่สระบุรี, ภูเก็ต, อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรีแล้ว เพื่อแก้ไขการกระทำผิดให้ถูกต้อง ไม่ให้เข้าข่ายเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ปล่อยให้กลุ่มทุนอยู่อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งตนได้ตรวจสอบหลายธุรกิจ ทั้งทางลึก และทางลับ พบว่า มีกลุ่มทุนครอบครองพื้นที่ ส.ป.ก. แต่ยืนยันว่า ตนเองไม่ท้อ และจะเดินหน้าเพื่อพิสูจน์ว่า ใครก็ตามที่อาศัยที่ดินรัฐ ในเขต ส.ป.ก. และถือครองไม่ถูกต้อง อาศัยจุดเปราะบางของเกษตรกร และทำให้เกษตรกรทำผิดกฎหมาย ตนจะตรวจสอบที่ดินทั้งหมด ทั้ง 67 จังหวัด โดยเฉพาะที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของรัฐ 8 หน่วยงาน รวมถึงที่ดินที่เขาใหญ่ ปากช่อง ทับลาน สุรินทร์ และจังหวัดอื่น ๆ ที่เป็นประเด็น ซึ่งขณะนี้ อนุกรรมการฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบทั้งหมด พร้อมมั่นใจว่า ภายในปีนี้ จะได้เห็นโฉมหน้ากลุ่มทุนที่เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ สปก.
ร้อยเอกธรรมนัส ยังย้ำด้วยว่า สปก.ได้ยึดคืนพื้นที่ที่ตกอยู่กับกลุ่มทุนแล้ว ได้แก่ พื้นที่ในจังหวัดกระบี่ จำนวนกว่า 4 แปลง รวมกว่า 6,000 ไร่ ,จังหวัดชุมพร 2 แปลง รวมถึง 7,300 ไร่, จังหวัดเชียงใหม่ 8 แปลง รวมกว่า 6,600 ไร่ และได้จัดสรรคืนแก่เกษตรกรตัวจริงแล้ว
ส่วนการใช้โฉนด ส.ป.ก.เป็นหลักทรัพย์ในสถาบันการเงินนั้น ร้อยเอกธรรมนัส ชี้แจงว่า โฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน และโฉนดเพื่อการเกษตรของ สปก. มีความแตกต่างกัน ที่ สปก.เป็นเจ้าของ และให้สิทธิประชาชนทำกิน แต่การเป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ทำให้มีมูลค่าเพิ่ม สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ จากอดีตที่เข้าถึงได้เฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. แต่เมื่อแปลงเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรแล้ว ส.ป.ก.ก็อยู่ระหว่างการลงนาม MOU ร่วมกับสถาบันการเงิน ซึ่งหากไม่มีการคัดค้าน ก็เชื่อว่า นโยบายนี้ก็สำเร็จไปนานแล้ว