ชลประทานบริหารน้ำแล้งได้ตามเป้า-เตรียมรับมือฤดูฝน

ชลประทานสรุปแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งเป็นไปตามแผน พร้อมสั่งชลประทานทั่วประเทศเตรียมรับมือฤดูฝนปี 65

57323C52 7DD2 405E 90DE 12BBCC0AA134

     (2 พ.ค.65)ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำและแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

79B79AB1 BBB9 4F66 88D3 2E4B7954346A

     ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(1 พ.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 43,604 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 19,667 ล้าน ลบ.ม. ได้มีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 22,998 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 103 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,179 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 3,483 ล้าน ลบ.ม. และมีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 6,305 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 111 ของแผนฯ ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

    อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้สิ้นสุดการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งแล้ว พบว่า ทั้งประเทศมีการใช้น้ำเกินแผนเพียงเล็กน้อย 

B02A5664 48ED 45B6 ACBE A435EEAF5A07

   ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดทำให้การใช้เป็นไปตามแผนที่วางไว้และเพียงพอตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมา หลังจากนี้จะเป็นการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่ ครม.เห็นชอบ ทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ให้บริหารจัดการน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึง ปริมาณ เวลา ผลกระทบ ความมั่นคงของอาคารชลประทาน และระเบียบกฎหมาย เป็นหลัก หมั่นตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ 

0C053535 D8DE 48C5 9269 B17F6DBCFFB8

    หากมีการปรับปรุงหรือซ่อมแซมให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยไว พร้อมกับจัดทำแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือหากเกิดสถานการณ์น้ำหลาก จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมทั้งระบบสื่อสารสำรองให้พร้อมใช้งานได้ทันที  หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญให้รายงานสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการในพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดได้ทราบอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที