“เขื่อนสิริกิติ์” ปิดการระบายน้ำ 4-9 ต.ค.นี้ ลดความรุนแรงน้ำท่วม

4 ต.ค. 65 นายพงษ์เทพ จันทร์ปุ่ม ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ แจ้งว่า เขื่อนสิริกิติ์ มีการปรับแผนการระบายน้ำรายวันในฤดูฝน อีกทั้งขณะนี้ พื้นที่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ทั้งจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพฯ ประสบปัญหาอุทกภัยเป็นวงกว้างและพบว่าบริเวณท้ายเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำมาก

ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ประสบอุทกภัย เขื่อนสิริกิติ์ จึงปิดการระบายน้ำ ระหว่าง 4-9 ตุลาคม 2565 การปิดหรืองดการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จะลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อน ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลมาสู่เขื่อนเจ้าพระยา เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง บรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่ประสบอุทกภัย

11024693 633268920106522 3839614622782322336 n
เขื่อนสิริกิติ์

อย่างไรก็ตาม มวลน้ำจำนวนมากบริเวณท้ายเขื่อนสิริกิติ์ เกิดจากปริมาณฝนที่ตกท้ายเขื่อน มวลน้ำจากแม่น้ำสาขาต่างๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ส่งผลให้ระดับแม่น้ำน่านเพิ่มสูงขึ้น สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 6,405 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 67 % เป็นน้ำที่สามารถใช้งานได้ 53 % ยังสามารถรับน้ำได้อีก 3,104 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้า 64 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นช่วงเก็บกักน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อรองรับการใช้น้ำช่วงแล้งที่จะถึง

กรมชลฯ เตรียมรับมือ-ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด

วันนี้ (4 ต.ค.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยสถานการณ์น้ำปัจจุบันว่า (4 ต.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 59,867 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 16,394 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,478 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 6,393 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการคาดการณ์ของกรุมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 4-9 ต.ค. 65 ฝนทางตอนบนของภาคเหนือและภาคอีสาน จะเริ่มเบาลงบ้าง แต่ภาคกลาง (กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังมีฝนตกต่อเนื่อง มีตกหนัก เนื่องมาจากมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมทางตอนบน ทำให้ร่องมรสุมพาดผ่านภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย และมีลมตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดปกคลุมภาคอีสานเสริมอีกแรง จึงยังต้องระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

ส่วนในช่วงวันที่ 10 -13 ต.ค. 65 จะมีฝนเพิ่มขึ้นในระยะแรก(10 ต.ค.65) หลังจากนั้นฝนจะเริ่มลดลงชัดเจน เนื่องจากมีมวลอากาศเย็น (ความกดอากาศสูง)แผ่ลงมาปกคลุม ทางภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน จึงทำให้ลมเริ่มเปลี่ยนทิศ เป็นลมตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น เป็นสัญญาณการเริ่มเปลี่ยนแปลงฤดูกาล (จากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว)ช่วงแรกอากาศจะมีความแปรปรวน ฝนตอนบนเริ่มเบาลงบ้าง ฝนจะยังตกบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก

ทั้งนี้กรมชลประทาน เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ นำการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา มาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เตรียมรองรับปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น จัดบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง เพื่อให้สามารถบูรณาการให้ความช่วยเหลือได้ทันทีและตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง