กรมชลประทาน เฝ้าระวังน้ำเหนือ-น้ำหนุน กระทบเจ้าพระยา 8-13 ต.ค. นี้

จากประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 49/2565 เรื่องเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาระบุว่ากองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำหลากจากทางตอนเหนือไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น วานนี้ (6 ตุลาคม 2565) เวลา 18.00 น.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณ จ.นครสวรรค์ (C.2) ในเกณฑ์ 3,077 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที 

ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่สามารถรองรับน้ำได้ ปัจจุบันระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.64 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก) ซึ่งสูงกว่าระดับเก็บกัก 1.14 (+16.50 ม.รทก) เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อนเจ้าพระยา

กรมชลประทานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำ ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ +17.60 ม.รทก ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรามากกว่า 2,900 – 3,000 ลบ.ม./ต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.20 ม.รทก ในช่วงวันที่ 8 – 13 ตุลาคม 2565 

จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

🚨 ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.10 – 0.15 เมตร 

📍จ.ชัยนาท อ.สรรพยา 

📍จ.สิงห์บุรี อ.อินทร์บุรี อ.เมืองสิงห์บุรี อ.พรหมบุรี 

📍จ.อ่างทอง อ.ป่าโมก และ อ.ไชโย คลองโผงเผง

📍จ.พระนครศรีอยุธยา คลองบางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ 

🚨ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 – 0.30 เมตร ตั้งแต่บริเวณ

📍จ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางไทร

📍จ.ปทุมธานี 

📍จ.นนทบุรี 

📍กรุงเทพมหานคร 

📍จ.สมุทรปราการ

ทั้งนี้ กรมชลประทานปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 กอนช. อย่างเคร่งครัด ปรับแผนบริหารจัดการน้ำระบบชลประทานต่างๆ ให้ได้เต็มศักยภาพสอดคล้องกับสถานการณ์

ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ตรวจสอบอาคารบังคับน้ำและสถานีสูบน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน  เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือให้สามารถช่วยเหลือประชาชนทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ