กรมชลฯ เตือนระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยายังคงสูง

กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (9 ตุลาคม 2565) เมื่อเวลา 16.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 3,099 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ซึ่งจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีก 306 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาตามลำดับ กรมชลประทาน รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเต็มศักยภาพ ก่อนจะเร่งผลักดันน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด

ปัจจุบัน ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ +17.71 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก) ทั้งนี้ เพื่อควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ที่เหมาะสม กรมชลประทาน มีแผนที่จะปรับการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 3,100 ลบ.ม./วินาที ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ หากในระยะต่อไปปริมาณน้ำทางตอนบนเริ่มลดลง กรมชลประทานจะปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาต่อไป

310234292 486773723497237 8756844091796496849 n 1
ระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยายังคงสูง

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่รับช่วงต่อการระบายน้ำให้สอดคล้องกัน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งจัดชุดทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำผ่านระบบชลประทานต่าง ๆ โดยการขุดลอกเสริมคันดินและแนวป้องกันร่วมกับประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำตลอดเส้นทางน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ รวมทั้งแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) รายงานว่า ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเต็มความจุ จำเป็นต้องระบายน้ำเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของเขื่อน ในอัตราประมาณ 901 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงไปรวมกับน้ำที่มาจากคลองชัยนาท – ป่าสัก ก่อนจะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก

โดยได้ใช้ระบบชลประทานฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำส่วนหนึ่งผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ลงสู่คลองระพีพัฒน์ ตามศักยภาพของคลองที่รับได้ ก่อนจะลำเลียงน้ำลงสู่คลอง 13 และคลองในแนวเหนือ-ใต้ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง และอ่าวไทยตามลำดับ เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก รวมถึงช่วยบรรเทาและลดผลกระทบในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยปริมาณน้ำดังกล่าวไม่ได้ผ่านเข้าสู่พื้นที่เทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี แต่อย่างใด